สุนัขพันธุ์ชิวาวาเป็นสุนัขที่ถือว่ามีขนาดเล็กที่สุดสำหรับการจัดอยู่ในกลุ่มสุนัขพันธุ์ทอย (Toy Group) ซึ่งมีน้ำหนักตัวที่โตเต็มที่จริงๆ เพียงแค่ 2.5 – 2.7 กิโลกรัมเองค่ะ ความสูงของเจ้าชิวาวาก็ประมาณ 16 – 20 เซนติเมตร ซึ่งสมัยนิยมเลี้ยงกันแรกๆ มักจะเรียกกันว่าหมากระเป๋านั่นเอง เจ้าชิวาวานั้นเหมาะกับการเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนมากกว่าเลี้ยงไว้เฝ้าบ้านนะคะ มาดูลักษณะเด่นของเจ้าชิวาวาตัวแสบกัน โดยทั่วไปเจ้าชิวาวาจะมีกะโหลกที่มีลักษณะกลม ความยาวลำตัวมากกว่าความสูงเล็กน้อย จมูกและปากสั้น ปลายจมูกค่อนข้างแหลม ใบหูมีขนาดใหญ่ปลายหูค่อนข้างแหลมตั้งขึ้น ตาโตแต่ไม่ยื่นโปนออกมา นัยน์ตามีสีดำสนิท สำหรับเจ้าชิวาวานั้นมีทั้งชนิดขนสั้นและขนยาว แถมยังมีนิสัยที่ขี้อ้อน ขี้ประจบ ขี้อิจฉา มีความฉลาด หวงบ้าน และหวงเจ้าของมากๆ เลยค่ะ เห็นตัวเล็กๆแบบนี้แต่แสบไม่เบาและยังเป็นสุนัขที่กล้าหาญมาก นับว่าเป็นสุนัขตัวจิ๋วที่มีพลังเยอะเกินตัวเลยทีเดียว เจ้าของมักจะตามใจและมองข้ามพฤติกรรมความก้าวร้าวเล็กๆน้อยๆไป แต่รู้หรือไม่ว่า เจ้าของกำลังฝึกสุนัขของตัวเองแบบผิดๆ กันอยู่นะคะ
เรื่องอาหารของเจ้าชิวาวาตัวแสบนั้น ควรให้กินอาหารมือละน้อยๆ แต่ให้บ่อยๆ เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้ชอบขี้เล่นชอบเห่าจึงทำให้ใช้พลังงานเยอะ แล้วส่งผลให้หิวอยู่บ่อยๆ แต่ผู้เลี้ยงก็ไม่ควรเทอาหารตั้งทิ้งไว้ให้กินทั้งวันแบบบุฟเฟ่นะคะ เพราะจะทำให้เจ้าชิวาวาตัวแสบกินอาหารเกินความจำเป็นของร่างกายทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา แล้วยังส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น หลอดลมตีบ เนื่องจากตัวของเขาเล็กอยู่แล้วความอ้วนของเขาจะทำให้กล้ามเนื้อมีขนาดเพิ่มขึ้นแล้วไปกดทับหลอดลมเลยทำให้หายใจลำบาก มีอาการไอร่วมด้วย แล้วเรื่องของโรคอ้วนนี้ก็เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหัวใจตามมาอีกด้วยค่ะ ทีนี้เจ้าของพอเข้าใจกันหรือยังคะว่าทำไมมาพบคุณหมอ คุณหมอถึงสั่งนักสั่งหนาว่าให้เจ้าของคุมเรื่องน้ำหนักตัวของน้องหมาสุดที่รักของเรา
ส่วนเรื่องของการดูแลก็ ควรอาบน้ำ ตัดเล็บ เช็ดหูให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และให้อาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้ขนเงางาม รูปร่างดี แต่สุนัขพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ขี้หนาวเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงควรใส่เสื้อให้ทุกครั้งที่อยู่ในอากาศเย็นเช่นเลี้ยงในห้องแอร์หรือพาออกไปนอกบ้านในฤดูหนาว เวลาที่เค้าเกิดอาการกลัว ตื่นเต้น หรือตกใจ จะชอบมีอาการตัวสั่น และสุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่มีนิสัยซุกซนบวกกับขนาดตัวที่เล็กดังนั้นเวลาอุ้มให้ระวังตก และระวังเรื่องการหนีออกจากบ้าน ดังนั้นผู้เลี้ยงควรดูแลกันอย่างใกล้ชิดเสมอ อย่าลืมว่าเขาไม่เหมาะที่จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน ดังนั้นหากผู้เลี้ยงมีธุระหรือความจำเป็นที่จะไปทำธุระต่างจังหวัด ก็ควรจะพาเจ้าตัวแสบไปฝากเลี้ยงตามสถานพยาบาลสัตว์หรือสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยง นะคะเพื่อความปลอดภัยของลูกๆของเรา
การพิจารณาเลือกลูกชิวาวาตัวใหม่มาเป็นสมาชิกในครอบครัวนั้นดูได้จาก
1. สุขภาพภายนอกต้องสมบูรณ์แข็งแรง มีขนาดตัวดูสมส่วนและสมกับอายุ ต้องร่าเริง ขี้เล่น ไม่หงอย ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว หรือตื่นเต้นตกใจจนเกินเหตุ ท่าทางการเดินหรือวิ่งเป็นปกติ
2. เปิดดูในช่องหูควรจะแห้ง สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น
3. เปิดปากดูลิ้นและเหงือกควรมีสีชมพู ลักษณะฟันสบกันปกติ โดยมีฟันบนคลอบฟันล่าง
4. ดวงตาต้องสดใสเป็นประกายไม่ขุ่นมัว ไม่มีขี้ตาและน้ำตา ลืมตาได้ปกติ ไม่กระพริบตาบ่อยๆ
5. ขนเป็นมันเงา นุ่ม ผิวหนังไม่มีรอยแผลเป็นและไม่มี ฝุ่นดำๆ ซึ่งเป็นไข่ของเห็บหรือหมัด
6. สังเกตที่ก้นต้องไม่มีรอยเปื้อนของอุจจาระ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังท้องเสีย
7. คลำบริเวณกะโหลกศีรษะไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไปจากขนาดตัว สำหรับเด็กๆกะโหลกอาจจะยังไม่ปิด ดังนั้นเวลาคลำควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
นอกจากดูที่ตัวสุนัขแล้ว อีกอย่างที่ควรดูก่อนตัดสินใจเลือกซื้อคือดูว่าร้านที่เราจะเข้าไปเลือกซื้อนั้นมีความสะอาดหรือไม่ มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงหรือเปล่า กรงใส่สุนัขที่ขายดูสะอาดและมีคราบอุจจาระของสุนัขตัวอื่นติดมาด้วยหรือไม่ เพราะโรคติดต่อบางอย่าง เช่นโรคพาโวไวรัส หรือ โรคลำไส้อักเสบ สามารถติดต่อกันได้จากอุจจาระของตัวอื่นที่เป็นโรคนั้น หรือถ้าพบว่าในกรงเดียวกันมีสุนัขที่ท้องเสีย มีอุจจาระเลอะที่ตัวสุนัขก็ไม่แนะนำให้ซื้อเลยจะดีกว่าค่ะ นอกจากนี้ก็ควรจะสังเกตด้วยว่าสุนัขที่อยู่กรงอื่นๆในร้าน มีตัวไหนที่เป็นหวัด มีน้ำมูกใสๆ บริเวณจมูก ถ้าหากพบว่ามีก็ไม่ควรเลือกซื้อร้านนั้น เพราะเรื่องไข้หวัดนั้น สามารถแพร่ได้ทางอากาศ ส่งผลทำให้ตัวอื่นๆอาจได้รับเชื้อโรคหรือความเสี่ยงสูง ดังนั้นจะเลือกซื้อเจ้าตัวแสบมาเลี้ยงทั้งทีก็ต้องพิถีพิถันกันหน่อยนะคะ แล้วที่สำคัญเลี้ยงเขาแล้วเราก็ต้อง มีเวลาที่จะคอยเอาใจใส่ดูแล และขาดไม่ได้คือ ความรัก จากผู้เลี้ยงค่ะ
.
ร่วมแบ่งปันความรู้ของสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก ไปพร้อมกันกับแฟนเพจโรงพยาบาลสัตว์นนทรีกันนะคะ
ศูนย์โรคหัวใจสัตว์เลี้ยง
โรงพยาบาลสัตว์นนทรี
โทร. 02-955-7845, 02-955-7846
เปิดให้บริการตั้งแต่ 09:00 – 24:00 น.
Facebook: www.facebook.com/NontriPetHospital
Website : nontripet.igetweb.com