จากความเชื่อที่มีกันมานาน ระหว่างสุนัขกับกระดูก เช่น “หมาก็ต้องกินกระดูกสิ” หรือ “ก็กินมาตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไร” แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่ายว่า “กระดูกมันจะติดคอมั้ย?” หรือ “ให้กินกระดูกระวังมันไปทิ่มลำไส้นะ” วันนี้เราลองมาหาคำตอบกันว่า สรุปแล้วสุนัขกินกระดูกได้หรือไม่
1. ฟันหัก- ยิ่งถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่และแข็ง อย่างกระดูกหมู ยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันแตกหักได้
2. การบาดเจ็บในช่องปากและลิ้น- เมื่อกระดูกแตกออกเป็นชิ้น บางชิ้นอาจมีลักษณะแหลมคม ทำให้เกิดแผลในปากหรือบนลิ้นได้
3. อุดหลอดอาหาร – อาการที่พบเช่น พยายามขาก ไอ อาเจียน มันพบหลังทานกระดูกเข้าไปทันที
4. อุดหลอดลม – เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกระดูกชิ้นเล็ก ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเนื่องจากสามารถทำให้สุนัขเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้
5. ติดในกระเพาะอาหาร – หากกระดูกผ่านหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะมาได้ แต่ขนาดใหญ่เกินไปที่จะผ่านออกจากกระเพาะ จนทำให้เกิดการอุดตันได้
6. อุดตันในลำไส้ – ทำให้เกิดการอุดตัน ขัดขวางการย่อยและขับถ่าย ทำให้เกิดอาการท้องผูก หรืออาเจียน ภาวะนี้อาจต้องผ่าตัดเผื่อนำชิ้นกระดูกออก
7. ท้องผูก – กระดูกที่กินเข้าไปอาจไปกองรวมกันกลายเป็นก้อน ทำให้เกิดอาการท้องผูกเนื่องจากเศษกระดูกไปอัดรวมกันเป็นก้อนขวางทางภายในลำไส้
8. เลือดออกในทางเดินอาหาร – เนื่องจากชิ้นส่วนกระดูกอาจมีความแหลมคม ซึ่งสามารถบาดทางเดินอาหาร เกิดเป็นแผล และมีเลือดไหลอย่างต่อเนื่องอยู่ภายในทางเดินอาหารได้ อาการที่พบได้เช่น อึเป็นเลือดสด หรืออึเหลวเป็นสีดำเข้มคล้ายน้ำมันดิน
9. ช่องท้องอักเสบ – เนื่องจากชิ้นส่วนกระดูกมีความแข็งและแหลมคม จึงอาจทะลุ กระเพาะ หรือลำไส้ จนทำให้เกิดภาวะช่องท้องอักเสบตามมา ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและทำให้สุนัขเสียชีวิตได้
น้องสุนัขพันธ์ปอม อายุ 2 เดือน น้ำหนักแค่ 0.5 กิโลกรัม เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์สาขา เอ็กซ์ตร้า ด้วยอาการ ไม่ถ่าย ไม่กินอาหาร และดูซึมลง มา 2 วัน จากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่าน้องมีอาการปวดเบ่ง คือพยายามจะเบ่งอึตลอด แต่ไม่มีอะไรออกมา และก่อนหน้าได้แอบไปกินกระดูกไก่มา
จากการตรวจร่างกายพื้นฐาน คุณหมอพบว่า น้องมีภาวะแห้งน้ำ มีอาการปวดท้อง และพยายามเบ่งอุจจาระ และร้องเจ็บอยู่ตลอด จากการคลำตรวจพบว่า บริเวณก้นของน้องมีลักษณะบวม แดง มีเลือดปนอุจจาระ ซึมออกมาจากรูทวารหนัก และมีอุจจาระเป็นก้อนแข็งอุดอยู่บริเวณรูทวาร จึงทำการตรวจเพิ่มเติมดว้ยการ X-ray พบว่า มีวัตถุแปลกปลอมอยู่ภายในลำไส้ส่วนปลาย (ในวงกลมสีแดง)
คุณหมอจึงทำการรักษาโดยการใส่สารหล่อลื่น และหนีบก้อนอุจจาระที่แข็งนั้นให้แตกออกเป็นก้อนเล็กๆ แล้วคีบออกมาทีละชิ้น พบว่าวัตถุแปลกปลอมนั้นลักษณะเป้นของแข็งชิ้นเล็กหลายชิ้น มีลักษณะแข็งและแหลมคม รวมเป็นก้อนเดียวกับเนื้ออุจจาระ โดยขณะที่คีบออกมาก็มีเลือดปนอุจจาระปนออกมาด้วย เมื่อนำมาดูใกล้ๆ พบว่าของแข็งที่พบคือ เศษของกระดูกไก่
เมื่อนำเศษกระดูกออกแล้วพบว่ารอบก้นน้องยังเป็นแผลและมีเลือดซึมออกอยู่ คุณหมอจึงให้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดปวด ยาช่วยห้ามเลือด และยาทาแผลต่อเนื่อง เพื่อรักษาแผลที่เกิดจากการถูกเศษกระดูกบาดภายในลำไส้ และภายนอกนอกบริเวณรอบรูปทวารหนัก
ในรายของน้องคนนี้ยังนับว่าโชคดีที่สามารถคีบเอาเศษกระดูกออกจากรูทวารหนักได้โดยตรง โดยไม่ต้องใช้วิธีการผ่าตัด แต่ก็ยังนับว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแทรกซ้อน และยังต้องเจ็บก้นไปอีกสักระยะนึง จากเคสนี้จึงเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการให้กินกระดูกได้เป็นอย่างดี
หากท่านใดมีข้อสงสัย คำถามเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง สามารถติดต่อสอบถามได้ ไม่ว่าจะทาง
Facebook: เว็บไซต์: www.rtbcenter.com หรือโทรมาสอบถามกับทางโรงพยาบาล