ทราบหรือไม่ว่าแมวก็เป็นลิวคีเมียได้
0 Vote 17586 Views

เรามาทราบประวัติคร่าวๆของน้องแมวลีโอกันค่ะ
ลีโอเป็นแมวชอบเที่ยวนอกบ้าน ประวัติวัคซีนไม่ครบ ชอบไปต่อสู้กับแมวนอกบ้านและได้รับแผลกลับบ้านมาทุกที จากการตรวจเลือดโดยใช้ชุดตรวจพบว่า น้องลีโอมีภูมิต้านทานต่อเอดส์แมว นั้นหมายความว่ามีการสัมผัสเชื้อเอดส์แมวมา (FIV +ve Ab) และพบว่ามีเชื้อลิวคีเมียในร่ายกาย (FeLV +ve Ag)

จากผลการตรวจเลือด พบค่าเม็ดเลือดแดง 13.2% เม็ดเลือดขาวอยู่ที่ 14,300 เกล็ดเลือด 261,000 ซึ่งถือว่าภาวะโลหิตจางรุนแรง

เรามาทำความรู้จักกับโรคลิวคีเมียกันนะคะ
สาเหตุ

โรคลิวคีเมียในแมว เกิดจากเชื้อ Feline leukemia virus ซึ่งแมวที่ติดเชื้อ อาจจะแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อแสดงอาการป่วยแล้ว เกิดเนื่องภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือไวรัสเอง เข้าไปเปลี่ยน DNA ในเซลล์ทำให้เกิดเนื้องอกได้

การติดต่อ

• ผ่านทางน้ำลายทางบาดแผลที่ถูกกัด รองลงมาคือปัสสาวะ และอุจจาระของแมวที่มีเชื้อไวรัส
• การติดต่อโรคระหว่างแมวนั้นจำเป็นต้องอาศัยการสัมผัสใกล้ชิดระยะเวลานาน
• ติดได้ง่ายจากการใช้ภาชนะ กินอาหารและน้ำร่วมกัน การเลียตัวกัน หรือกัดกัน
• ยังพบการติดต่อผ่านจากแม่ไปสู่ลูกผ่านทางรก

อาการของโรค แสดงอาการแตกต่างกันไป

• โรคจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้ออื่นๆได้ง่ายขึ้น เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคพยาธิเม็ดเลือด
• โรคจากภาวะโลหิตจาง ทำให้ป่วยได้รุนแรงน้อย ไปจนถึงทำให้แมวตายด้วยภาวะเลือดจางรุนแรง
• โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
• โรคในกลุ่มเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตัวเองและอื่นๆ เช่น ลำไส้เกิดการอักเสบ ไตอักเสบ เกิดความผิดปกติกับโรคตา

การรักษา

สำหรับแมวที่แสดงอาการป่วย.....
รักษาขึ้นอยู่กับอาการ เช่น ได้รับยาเพื่อปรับสภาพภูมิคุ้มกัน หากเกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงต้องทำการถ่ายเลือด หรืออาจต้องได้รับยาต้านไวรัส ในรายที่มีเนื้องอกจากลิวคีเมียอจาต้องใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย สำหรับในรายของน้องลีโอ เกิดภาวะโลหิตจางรุนแรงจึงทำการถ่ายเลือด และรักษาพยาธิในเม็ดเลือด ควบคู่กับกับการให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน

สำหรับแมวที่มีการติดเชื้อในร่างกายแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการของโรค ....
และควรแยกแมวออกจากตัวอื่นๆในบ้าน ควรตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่จะแทรกซ้อนได้ เช่น ตรวจหาพยาธิในเม็ดเลือด ตรวจดูค่าตับ และไต ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจหาไข่พยาธิ ถ่ายพยาธิและป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำ และควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ไม่ควรให้ออกนอกบ้าน เพื่อลดทั้งโอกาสการติดเชื้อโรคอื่นๆ และป้องกันการแพร่ไวรัสให้แมวอื่นๆด้วย

การป้องกันและควบคุม

ควรทำการตรวจคัดกรองแมวที่เป็นพาหะของโรค คือติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน



ที่มา พรรณจิตต์(2554). โรคติดเชื้อที่สำคัญในแมว . คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.86-101.


เรียบเรียงโดย สพ.ญ. จุฑารัตน์ บารมี