เรื่องเล่าจากฮานอย “อาการถ่ายเหลวในลูกสุนัข จะเป็นอย่างอื่นได้ไหม ที่ไม่ใช่ไวรัส”
0 Vote 8694 Views
เรื่องเล่าจากฮานอย “อาการถ่ายเหลวในลูกสุนัข จะเป็นอย่างอื่นได้ไหม ที่ไม่ใช่ไวรัส”
ประวัติและข้อมูลสัตว์ป่วย

สุนัข Kim เพศผู้ อายุ 4 เดือน เคยทำวัคซีน 1 ครั้ง มาด้วยอาการถ่ายเหลว เป็นน้ำสีเหลือง ไม่มีเลือดปน ไม่อาเจียน ไม่ซึม ยังทานอาหารได้ ปัสสาวะปกติ เจ้าของไม่แน่ใจว่าสุนัขแอบไปกินอะไรผิดปกติหรือเปล่า

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

อาการภายนอกโดยทั่วไปของสุนัข ยังดูไม่ซึม ไม่มีภาวะขาดน้ำ คลำช่องท้องไม่พบว่าสุนัขปวดท้อง เสียงปอด เสียงหัวใจปกติ จากนั้นจึงทำการเก็บตัวอย่างอุจจาระไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ พบแบคทีเรียในอุจจาระมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบเชื้อโปรโตซัวปริมาณมาก
จากประวัติการทำวัคซีนเพียง 1 เข็ม สัตวแพทย์ยังคงคำนึงถึงโรคท้องเสียที่มักพบได้ในลูกสุนัขคือ ไวรัสลำไส้อักเสบ จึงใช้ชุดตรวจลำไส้อักเสบ แต่ผลเป็นลบ ซึ่งหมายถึง ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบจากอุจจาระ
โดยสรุปแล้ว Kim พบปัญหาท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัว

การรักษา

อาการโดยรวมทั่วไปของสุนัข Kim ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่รุนแรง สัตวแพทย์จึงพิจารณาจ่ายยาปฏิชีวนะ ช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินอาหาร และผงเกลือแร่ผสมน้ำ ให้เจ้าของเอากลับไปป้อนต่อที่บ้าน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากอาการแย่ลง หรือเริ่มมีอาเจียน แจ้งให้เจ้าของทราบว่าควรรีบพาสุนัขกลับมาตรวจซ้ำ

เกร็ดความรู้

ในหลาย ๆ ครั้งที่มีลูกสุนัขมาด้วยอาการถ่ายเหลว ข้อมูลที่สำคัญที่เจ้าของจะสามารถให้เพิ่มเติมได้คือ ประวัติวัคซีน อาหาร และการเลี้ยงดู แน่นอนว่า อาการท้องเสียในลูกสุนัข ยิ่งมีประวัติทำวัคซีนไม่ครบ โรคที่ทางสัตวแพทย์มักจะนึกถึงเป็นกลุ่มแรก ๆ คือ โรคลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส (หรือที่รู้จักการในนามพาโวรัส โคโรนาไวรัส) ซึ่งการวินิฉัยที่นอกจากจะใช้ข้อมูลจากเจ้าของแล้ว มักจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบการวินิจฉัยด้วยเสมอ ๆ การวินิจฉัยโรคท้องร่วงท้องเสียที่สำคัญและทำได้ง่ายคือการตรวจอุจจาระโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หากแต่การดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อย่างเดียว ไม่อาจวินิจฉัยแยกโรคไวรัสลำไส้อักเสบได้ ในปัจจุบัน การใช้ชุดตรวจเชื้อโรคไวรัสลำไส้อักเสบ จึงมักจะเป็นเครื่องมืออีกชนิดที่สำคัญที่ทางการสัตวแพทย์เราหยิบมาใช้ช่วยวินิจฉัยคู่กับการตรวจอุจจาระด้วยเสมอ
ในกรณีของสุนัขคิม จากผลทดสอบด้วยชุดตรวจไวรัสเป็นลบ ณ วันที่ตรวจวันแรกนั้น อาจหมายถึงว่าน้องคิมไม่มีการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ก็ได้ แต่แนะนำว่าควรมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหากอาการยังไม่ดี เนื่องจากอาการเพิ่งเริ่มเป็น อาจมีเชื้ออยู่ในปริมาณเล็กน้อย จึงทำให้ตรวจไม่พบในครั้งแรกได้
ส่วนเชื้อโรคที่ตรวจพบในอุจจาระ นอกจากแบคทีเรียและ เชื้อที่สำคัญที่พบในสุนัขคิมตัวนี้คือ เชื้อโปรโตซัว ที่เรียกกันทั่วไปว่า เชื้อบิด เป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเป็นมูก อาจรุนแรงถึงขั้นถ่ายเป็นเลือดสด กลิ่นเหม็นคาว เชื้อโปรโตซัวบางชนิดมักพบว่าเป็นเชื้อฉกฉวยโอกาสในผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน เช่นเดียวกับในสุนัข ในสุนัขหลาย ๆ รายที่มีการตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบ มักพบว่าติดเชื้อโปรโตซัวแทรกซ้อนเข้ามาด้วย
ดังนั้นคำแนะนำในการเฝ้าระวังภาวะท้องเสียในลูกสุนัข ควรพร้อมด้วยชนิดอาหาร ความสะอาดของน้ำ การทำวัคซีน หากพบเจออาการ ซึม เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน โรคบางโรคอาการคล้ายกันแต่อาจรุนแรง บานปลายได้หากปล่อยไว้นาน
ขอคำแนะนำ หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพสัตว์ที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท 24 ชั่วโมง
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ. ชนินันท์ สุทธิผล
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา