มารู้จักกับโรคขี้เรื้อนแห้ง ขี้เรื้อนเปียก
1 Vote 15772 Views
รู้จักกับโรคขี้เรื้อนแห้ง ขี้เรื้อนเปียก

โรคขี้เรื้อนแห้ง สาเหตุ : ไรขี้เรื้อน Sarcoptes scabiei var canis แหล่งที่อยู่ : อาศัยอยู่บริเวณใต้ผิวหนังชั้น Stratum corneum ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะอาจจะมีชีวิตอยู่ได้นาน แต่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมนอกตัวสัตว์ได้เป็นเวลานานๆ(~ 3 วัน) วงจรชีวิตอาจจะอยู่ได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยตัวแก่จะผสมพันธุ์ที่ผิวหนังแล้วตัวเมียจะขุดโพรงและไปวางไข่ที่ใต้ผิวหนังแล้วตัวอ่อนจะกลับมาอยู่บนผิวหนังและพัฒนาเป็นตัวแก่ต่อไป

อาการ : บริเวณที่เป็นจะพบลักษณะขนร่วง อาจจะมีตุ่มแดงๆตามผิวหนัง จะแสดงอาการคันมาก รอยโรคจะกระจายตัวเร็วมาก อาการคันเกิดจากตัวไรทำให้ผิวหนังระคายเคืองรวมทั้งปล่อยสารพิษทำให้ผิวหนังมีอาการแพ้
บริเวณที่สามารถสังเกตเห็นรอยโรคได้บ่อยๆ : คือ ปลายใบหู บริเวณใต้ท้อง ข้อศอก และข้อเท้าด้านนอก การติดต่อ ติดต่อโดยการสัมผัสกับสุนัขที่เป็นโรคหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อขี้เรื้อนโดยมีระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังได้สัมผัสกับเชื้อไรขี้เรื้อน
การตรวจวินิจฉัย : ใช้วิธีการขูดตรวจหาไรขี้เรื้อนที่ผิวหนังจากรอยโรคที่สงสัย แต่การขูดอาจไม่พบตัวไรได้เพราะโอกาสไม่พบสูงถึง 70%
การรักษา : มีทั้งการใช้เป็นยาที่ใช้ผสมน้ำอาบ หรือว่าเป็นยากินและยาที่เป็นแบบฉีด เพราะวิธีการรักรักษาแต่ละวิธีไม่เหมือนกันและความถี่ในการใช้ยาก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งการใช้ควรอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์นะครับเพราะถ้าใช้ผิดวิธีหรือใช้ยาเกินขนาดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
การป้องกัน : ระวัง!!! ไม่ให้สุนัขอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นโรคขี้เรื้อนแห้ง อุปกรณ์ที่ใช้ในการ แต่งตัวควรแยกเป็นของแต่ละตัว หรือ ถ้าจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรทำความสะอาดก่อนที่จะนำมาใช้

โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน สาเหตุ : ไรขี้เรื้อน Demodex spp. แหล่งที่อยู่ : อาศัยอยู่บริเวณรูขุมขนหรือต่อมไขมัน โดยวงจรชีวิตอยู่ประมาณ 20-35 วัน โดยตัวผู้ที่ผสมพันธุ์แล้วจะตายส่วนตัวเมีย จะเข้าไปอยู่ในรูขุมขนหรือต่อมไขมันและวางไข่ หลังจากไข่ฟักแล้วตัวอ่อนจะไต่มาอยู่ที่บริเวณบนผิวหนังแล้วจะไปอยู่ในรูขุมขนอันใหม่
อาการ : จะปรากฏได้ 2 แบบคือ แบบเฉพาะแห่ง คืออาการที่พบได้คือจะมีขนร่วงตามใบหน้า หน้า หัว แก้ม ริมฝีปาก รอบตา โดยแบบเฉพาะแห่งจะมีตำแหน่งที่ขนร่วงประมาณ 1-5 ตำแหน่ง แบบกระจายทั่วตัว คือ อาการที่พบได้คือจะมีขนร่วงกระจายทั่วตัว ผิวหนังอาจจะเปลี่ยนสีและอาจจะหนาตัวขึ้นอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ผิวหนังอักเสบ คัน
การติดต่อ : ติดโดยการสัมผัสจากสุนัขไปสุนัข โดยติดจากแม่สุนัขที่เป็นพาหะไปสู่ลูกภายในช่วง 72 ชม.แรกคลอดเท่านั้น!!! (ติดในช่วงดูดนมแม่)

พันธุ์ที่มีความเสี่ยง :
Stafford shire bull terrior
Old English sheep dog
West hightland white terrior
French bulldog
Pug
English bull terrior
Boston terrior
Burmese mountain dog
German poiter
English bull dog
Shar pei
Shih tzu

การตรวจวินิจฉัย : ใช้วิธีการขูดตรวจหาไรขี้เรื้อนที่ผิวหนังจากรอยโรคที่สงสัย โดยการขูดที่ผิวหนังชั้นลึก
การรักษา :
ถ้าในรายที่เป็นแบบเฉพาะแห่ง 90% จะสามารถหายได้เอง แต่อีก 10% จะพัฒนาจนกลายเป็นแบบกระจายทั่วตัว การรักษาอาจจะใช้แค่แชมพูที่ช่วยรักษาขี้เรื้อนขัดบริเวณที่เป็น ถ้ามีอาการคันอาจจะให้ยากลุ่มแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
ถ้าในรายที่เป็นแบบกระจายทั่วตัว การรักษาอาจจะต้องใช้ยาฆ่าตัวไรขี้เรื้อนซึ่งมีทั้งแบบกิน แบบหยอดหลัง ร่วมกับการใช้แชมพูที่ช่วยรักษาขี้เรื้อน ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยอาจจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยคุมการติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ามีอาการคันอาจจะให้ยากลุ่มแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ

การรักษาโรคขี้เรื้อนเปียกนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและ “เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด” ถ้าสุนัขเครียดหรือภูมิคุ้มกันถูกกดจะทำให้เชื้อกลับขึ้นมาเป็นได้อีก การป้องกัน : ดูแลสุนัขให้มีสุขภาพดีแข็งแรง ให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ควรถ่ายพยาธิในทางเดินอาหาร และไม่พยามทำให้สุนัขเกิดความเครียด เพราะโรคนี้ถ้าสุนัขอ่อนแอภูมิคุ้มกันลดลงเชื้อไรขี้เรื้อนที่ไม่แสดงอาการอาจจะเพิ่มจำนวนและทำให้เกิดโรคได้

โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
น.สพ. เชาวลิต สุทธะลักษณ์
คลินิก โรคผิวหนัง