“สุนัขกัดกัน” อันตรายมากกว่าที่คุณคิด
0 Vote 49674 Views

“สุนัขโดนกัด” เป็นการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในโรงพยาบาลสัตว์ โดยเฉพาะเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงสุนัขแบบปล่อย มีโอกาสออกไปนอกบ้าน และต่อสู้กับสุนัขตัวอื่น หรือแม้แต่การพาสุนัขออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย ก็อาจมีสุนัขจรจัดเข้ามากัดสุนัขของคุณโดยที่ไม่ทันตั้งตัว แผลที่เกิดจากการโดนกัดนั้นมีความรุนแรงตั้งแต่เป็นเพียงแผลถลอกเล็กน้อย ไปจนถึงขั้นเป็นแผลฉีกขาดขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาท โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่กัดสุนัขพันธุ์เล็ก เขี้ยวที่มีขนาดใหญ่และแรงกัดที่มากกว่า อาจทำให้สุนัขพันธุ์เล็กได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือบางครั้งหากอวัยวะสำคัญได้รับความเสียหาย อาจทำให้เจ้าตัวน้อยเสียชีวิตได้เลยทีเดียวค่ะ

แผลโดนกัดส่วนใหญ่ ถือเป็นแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียจานวนมากที่อยู่ในน้ำลาย และช่องปากของสุนัขที่กัด บางครั้งรูเขี้ยวเล็กๆที่ปากแผลปิดแล้ว แต่ภายในอาจเกิดเป็นก้อนฝีขึ้นมาภายหลังได้ โดยส่วนใหญ่หากตำแหน่งที่โดนกัดตรงกับตำแหน่งของเส้นเลือด จะทำให้สุนัขเสียเลือดเป็นปริมาณมากได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เจ้าของควรทำการห้ามเลือดในเบื้องต้นก่อนรีบนำสุนัขส่งโรงพยาบาลโดยทันที ไม่ควรปล่อยแผลโดนกัดทิ้งไว้หลายวันแล้วค่อยพาสุนัขมาทำการรักษา เนื่องจากแผลอาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง และหากติดเชื้อเข้ากระแสเลือดแล้ว อาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

สัตวแพทย์จะประเมินอาการสุนัขในเบื้องต้น และตรวจร่างกายโดยละเอียดก่อน เนื่องจากหากมีภาวะฉุกเฉิน หรือมีความเสี่ยงที่อวัยวะภายในที่สำคัญได้รับความเสียหายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนก่อน เช่น ภาวะกระบังลมฉีกขาด ช่องอกทะลุ หลอดลมขาด กระเพาะปัสสาวะแตก หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือน เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยความเสียหายของแผลที่โดนกัด ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย หรือการอัลตราซาวน์ เป็นต้น

การรักษา

สัตวแพทย์จะประเมินการรักษา หลังจากที่แก้ไขภาวะฉุกเฉินต่างๆแล้ว ในส่วนของแผลโดนกัดจะประเมินตามความรุนแรงและลักษณะของแผลว่าจำเป็นต้องผ่าตัดเย็บแก้ไข หรือรักษาโดยการล้างทำความสะอาดแผลแบบเปิด สุนัขจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เจ้าของควรดูแลความสะอาดของแผลอย่างใกล้ชิด ห้ามไม่ให้สุนัขเลียแผลเนื่องจากจะเพิ่มโอกาสทำให้แผลเกิดการติดเชื้อ จำเป็นต้องใส่ปลอกคอกันเลียแผล และควรสังเกตลักษณะของการ ติดเชื้อ เช่น แผลมีหนอง บวม แดง มากขึ้น ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์โดยทันที เพราะอาจจาเป็นต้องทำการเพาะเชื้อเพื่อความไวของยาปฏิชีวนะต่อเชื้อเพื่อให้เลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสม และควรพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจดูอาการซ้ำจนกว่าแผลจะหายสนิท

การป้องกัน

ไม่ควรปล่อยสุนัขออกนอกบ้านโดยที่ไม่อยู่ในสายตาของเจ้าของ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกสุนัขอื่นนอกบ้านกัดได้ หากพาสุนัขออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ควรใส่สายจูง และควรสำรวจว่าบริเวณโดยรอบมีสุนัขอื่นอยู่หรือไม่ เพราะบางครั้งอาจวิ่งเข้ามากัดสุนัขของเราโดยที่เราไม่สามารถช่วยเหลือไว้ได้ทัน

ที่มาของรูป
www.gopixpic.com
www.argospetinsurance.co.uk
www.cesarsway.com