โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหาร
0 Vote 11591 Views
โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหาร (cutaneous adverse food reaction)

โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหาร (cutaneous adverse food reaction / food allergy) มักเกิดจากการที่สัตว์มีปฏิกิริยาภูมิไวเกินต่อสารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีนต่างๆในอาหาร วัตถุกันเสีย หรือสารแต่งกลิ่นและรสชาติที่อยู่ในอาหาร โดยในรายที่มีการแพ้อาหาร ภายหลังจากการกินอาหารที่มีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้แพ้ ผ่านกระบวนการย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาภูมิไวเกิน ทำให้ร่างกายหลั่งสารอักเสบที่ผิวหนัง และมักตามด้วยการติดเชื้อแบคทีเรีย และยีสต์ที่ผิวหนังได้ง่าย  จากการศึกษาพบว่า ภาวะภูมิแพ้อาหารมักเกิดกับสุนัขที่กินอาหารเดิม ๆ มานาน สุนัขที่แสดงอาการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน นั่นหมายความว่า ร่างกายได้มีความผิดปกติมาสักระยะหนึ่งแล้ว  จนถึงจุดที่ร่างกายไม่สามารถทนต่อไปได้อีก จึงเริ่มแสดงอาการออกมาให้เราเห็น

รูปที่ 1 แสดงกลไกทางระบบภูมิคุ้มกันต่อภาวะภูมิแพ้อาหาร

ในกลุ่มโรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้อาหารพบได้บ่อยเป็นลำดับสาม (10 - 15%) รองจากผิวหนังอักเสบจากการแพ้น้ำลายหมัด (flea allergic dermatitis) และ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ละอองในอากาศ (atopic dermatitis)

อาการ

อาการของโรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้อาหารจะมีความใกล้เคียงกับโรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ละอองในอากาศ จึงไม่สามารถที่จะแยกกันจากรอยโรคภายนอกได้ แต่โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้อาหาร สุนัขจะมีการอักเสบของผิวหนังตลอดทั้งปี โดยไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล (non-seasonal allergic skin disease) ซึ่งเป็นข้อที่แตกต่างจากโรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ละอองในอากาศที่มักมีการอักเสบของผิวหนังสัมพันธ์กับฤดูกาล

ตำแหน่งรอยโรคที่มักพบ

ตำแหน่งรอยโรคที่มักพบ ได้แก่ เท้า รักแร้ ขาหนีบ ใต้ท้อง ปลายหู ใบหน้า ส่วนใหญ่จะพบรอยโรคตามบริเวณใบหน้าและใบหูประมาณ 80% ที่ขาและเท้าประมาณ 60% ที่โคนขาหนีบประมาณ 50% ที่บริเวณหน้าอก รักแร้ และรอบดวงตาประมาณ 35% และบริเวณอื่นๆ ก็สามารถพบได้อย่างเช่น รอบปาก ใต้คาง รอบรูทวาร เป็นต้น

อาการทีมักพบ

อาการทีมักพบ ได้แก่ คัน และเลียบริเวณเท้า หรือโคนหาง ผิวหนังมีผื่นแดง ขนร่วง หากผิวหนังมีการอักเสบรุนแรงมาก จะพบผิวหนังมันเยิ้ม มีตุ่มหนอง มีกลิ่นตัว หูชั้นอกอักเสบ ซึ่งมักพบในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือเป็นเรื้อรังมานาน
อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น การคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด หรือท้องเสีย พบได้ประมาณ 10-15% ของสุนัขที่ป่วย

โรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้อาหารพบได้ในสุนัขที่อายุตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 12 ปี ไม่มีพันธุ์โน้มนำ แต่จากที่เคยมีรายงานมักพบได้ในพันธุ์ American cocker spaniel, English springer spaniel, Labrador retriever, collie, miniature schnauzer, Chinese shar pei, poodle, West Highland white terrier, boxer, dachshund, Dalmatian, Lhasa apso, German shepherd dog, Rhodesian ridgeback, pug และ golden retriever

รูปที่ 2 แสดงรอยโรคผิวหนังที่เกิดตามมาจากภาวะภูมิแพ้อาหาร

อาหารก่อให้เกิดภูมิแพ้ (food allergen) คืออะไร ?

สารในอาหารที่ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ส่วนใหญ่ คือโปรตีนในอาหาร เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ความสามารถของโปรตีนในอาหารที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิไวเกินขึ้นอยู่กับขนาด และโครงสร้างของโปรตีน โดยส่วนใหญ่โปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิไวเกินได้มักมีขนาดอยู่ในช่วง 18,000 ถึง 36,000 ดาลตัน

กลไกของร่างกายในการต่อต้านการเกิดภาวะภูมิแพ้อาหาร

ระบบทางเดินอาหารเป็นด่านแรกที่จะทำหน้าที่ป้องกันการเกิดภาวะภูมิแพ้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะย่อยโปรตีนให้อยู่ในขนาดที่ไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ (non-antigenic fragments) ด่านที่สอง คือ เยื่อบุผนังในทางเดินอาหารทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันทางกายภาพ ในการป้องกันการดูดซึมสารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่เข้าสู่กระแสเลือด และด่านสุดท้าย คือระบบน้ำเหลือง (GALT) ดังนั้น หากเกิดความเสียหายที่บริเวณดังกล่าว อาจมีส่วนให้กลไกการป้องกันการเกิดภูมิแพ้อาหารของร่างกายบกพร่องไป จึงมีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้อาหารได้

รูปที่3 แสดงกลไกของร่างกายในการต่อต้านการเกิดภาวะภูมิแพ้อาหาร

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคผิวหนังจากการแพ้อาหาร คือการทดสอบการแพ้อาหาร โดยก่อนทำการทดสอบจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยแยกโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นออกจากสาเหตุอื่นๆก่อน และจะเริ่มการทดสอบการแพ้อาหารได้เมื่อมีการควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อน และกำจัดสาเหตุอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องไปได้แล้ว การทดสอบการแพ้อาหารประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน คือ Food restriction trial และ food challenge

1. Food restriction trial
คือ การให้สุนัขหยุดกินอาหารเดิมทั้งหมด และเปลี่ยนมากินอาหารใหม่ โดยอาหารใหม่ที่นำมาทดสอบต้องเป็นอาหารที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน ขั้นตอนแรกในการเลือกอาหารเพื่อทดสอบการแพ้อาหารจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลอาหาร หรือแหล่งโปรตีนที่สุนัขเคยได้รับมาก่อนที่จะแสดงอาการของโรคผิวหนัง เพื่อที่จะได้เลือกสารอาหารที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาหารที่นำมาทดสอบมี 2 ประเภท ได้แก่

1.1) อาหารปรุงเองที่มีสารอาหารที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน (novel ingredients diet) ซึ่งเป็นอาหารปรุงเอง โดยหลีกลี่ยงแหล่งโปรตีนที่เคยได้รับมาก่อนกำหนดให้เป็นคาร์โบไฮเดรต 1 ชนิด และโปรตีน 1 ชนิดตลอดระยะเวลา  อาทิเช่น เนื้อแกะ เนื้อกวาง เนื้อกระต่าย เนื้อจิงโจ้ เนื้อจระเข้ เนื้อปลาแซลมอน รวมถึงแหล่งโปรตีนใหม่จากธัญพืชและพืชต่างๆ ด้วย แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน เช่น มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง ฝักทอง เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ อาหารที่ปรุงเองดังกล่าวต้องไม่ใส่สารเสริมในอาหาร หรือสารปรุงแต่งอื่นใดที่จะทำให้สุนัขเกิดการแพ้ได้

1.2) อาหารสำเร็จรูปที่ผลิตเพื่อสุนัขที่แพ้อาหาร โดยโปรตีนจะถูกย่อยให้มีขนาดเล็กกว่า 15,000 ดาลตัน (hydrolysed protein) โดยการตัดพันธะเปปไทด์ในโปรตีนให้มีขนาดเล็กลง จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถตรวจจับโมเลกุลเล็กขนาดนี้ได้ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อภูมิแพ้ แต่บางครั้งต้องระวัง ในขบวนการผลิตอาหารสำเร็จรูปอาจมีการปนเปื้อนสารอาหารอื่นๆ ในสายการผลิต ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้สุนัขแสดงอาการแพ้ได้

เจ้าของจำเป็นต้องตระหนัก และเห็นถึงความสำคัญของการทดสอบอาหาร และต้องอาศัยความร่วมมือของสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยต้องแจ้งรายละเอียดให้ทุกคนในบ้านทราบและปฏิบัติให้เหมือนกัน ในระหว่างการทดสอบอาหาร ต้องงดอาหารเสริมทุกชนิด เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารคน อาหารแมว ขยะ วิตามิน ยากินป้องกันพยาธิหนอนหัวใจแบบเคี้ยว ยาสีฟันที่แต่งกลิ่น ให้กินได้เฉพาะน้ำสะอาด ในกรณีที่สุนัขตอบสนองต่อ food restriction trial เพียงอย่างเดียว จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีภาวะแพ้อาหาร จะสรุปได้ก็ต่อเมื่อมีการให้อาหารที่เคยกินมาก่อน (food challenge) แล้วสุนัขมีการกลับซ้ำของอาการร่วมด้วยเท่านั้น

2. Food challenge
เป็นขั้นตอนการทดสอบสารที่ทำให้แพ้ โดยให้กินอาหารที่เคยกินมาก่อนครั้งละ 1 ชนิด รวมกับมีการจดบันทึกปฏิกิริยาการแพ้ ในกรณีที่สัตว์ป่วยแพ้อาหารชนิดนั้นๆ อาการคันและรอยโรคควรเกิดขึ้นภายใน 10 วัน หลังจากได้กินอาหารเดิมที่เคยกิน จะสรุปได้ว่าสัตว์นั้นมีการแพ้อาหาร (food allergy) ก็ต่อเมื่อสัตว์มีอาการคันและรอยโรคลดลง ในช่วง food restriction trial และมีอาการกลับซ้ำ (relapse) เมื่อได้รับอาหารเดิมในระหว่างการทำ food challenge เท่านั้น

การที่จะรักษาโรคผิวหนังให้หายขาดได้นั้น สุนัขจำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง การทดสอบการแพ้อาหารเป็นขั้นตอนการวินิจฉัยโรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหาร ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่มีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลานานกว่าที่จะเห็นผลการตอบสนอง และต้องอาศัยความเข้าใจ และความร่วมมือเป็นอย่างมากจากเจ้าของ และคนในครอบครัว สิ่งสำคัญคือ เจ้าของต้องเข้าใจการเกิดโรค และขั้นตอนการทดสอบการแพ้อาหาร รวมทั้งให้ความร่วมมือปฏิบัติการทดสอบอาหารอย่างเคร่งครัด ไม่ใจอ่อน และจำกัดอาหารของสุนัขอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน หากเราทราบว่าโรคผิวหนังของสุนัขเกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหาร การหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นจึงเป็นการรักษาที่ตรงกับสาเหตุของโรคมากที่สุด สุนัขจึงไม่จำเป็นต้องกินยาในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตได้

เอกสารอ้างอิง
Bio-Medical Services Clinic Reference Guide 2009
Steven S. Hannah. Food allergy in dogs, Nutritional Management Based on the Principles of Food Hypersensitivity. A Research Update for theVeterinarian from the Ralston Purina Company St. Louis, Mo., USA
Rosser EJ. Proc AAVD & ACVD Meeting. April 25-27, 1996. Las Vegas, Nev
สพ.ญ.ชเนตตี จันทิก ตรวจโรคผิวหนังสุนัขและแมว แนว STEP BY STEP พิมพ์ครั้งที่ 1: พฤษภาคม 2550
https://online.zoetis.com