โรคขี้เรื้อนในสุนัข
0 Vote 25093 Views
สาเหตุของโรคขี้เรื้อนแห้ง

เกิดจากสุนัขติดปรสิตภายนอกที่มีขนาดเล็กมากชื่อ Sarcoptes scabei ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามาอาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า โดยเจ้าไรที่ว่านี้สามารถสืบพันธุ์ออกไข่ให้ลูกให้หลานได้อีกมากมาย เรียกว่า อาศัยผิวหนังสุนัขเป็นบ้านหลังใหญ่เลยทีเดียวละค่ะ

ภาพแสดงลักษณะขี้เรื้อนแห้ง

โดยอาการของสุนัขตัวที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนแห้ง เริ่มต้นจะมีอาการคันตามตัว คันที่ขอบใบหูทั้งสองข้างและคันที่ศอกด้านข้าง จากนั้นจะเริ่มมีอาการคันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งขนบนตัวสัตว์เริ่มร่วงและเริ่มเป็นสะเก็ดแผลที่หนาตัวขึ้น ทีนี้สะเก็ดแผลบนผิวหนังก็จะเริ่มเกิดขึ้นทั่วตัวเช่นกันค่ะ

สำหรับการวินิจฉัยนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการร่วมกัน เช่น การสังเกตจากรอยโรค การขูดผิวหนังไปส่องกล้องหาตัวไรขี้เรื้อน การทำ Pinna-pedal reflex test โดยการเอานิ้วมือขยี้ที่ปลายใบหูเบาๆ หากสุนัขมีตัวไรขี้เรื้อนอยู่แล้วสุนัขจะมีอาการกระดิกขาหลังคล้ายอาการเกา เป็นต้น

ภาพแสดงขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย

ในส่วนการรักษาโรคขี้เรื้อนแห้งที่นิยมคือ การฉีดยาเพื่อการรักษา ซึ่งได้ผลดีแต่ต้องทำซ้ำๆทุก 10-14 วัน จนกว่าจะหายสนิท ในกรณีที่เลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว ต้องพาสัตว์เลี้ยงทุกตัวมารับการรักษาด้วยเพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายและติดต่อได้ไวมาก ไม่งั้นจะทำให้เกิดปัญหาการป่วยวนเวียนอยู่ในฝูงสุนัขได้เรื่อยๆนะค่ะ ในบางครั้งอาจจะมีอาการคันเกิดขึ้นได้กับเจ้าของเช่นกันนะคะ

สาเหตุของโรคขี้เรื้อนเปียก

เกิดจากไรชนิดหนึ่งชื่อ Demodex เป็นไร 8 ขาที่มีขนาดเล็กมาก รูปร่างยาวรี โดยตามธรรมชาติแล้ว พบได้ทั่วไปในสุนัขทุกตัว และมักไม่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังตราบใดที่มันยังมีจำนวนน้อย และสัตว์มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงปกติดี

ภาพแสดงลักษณะขี้เรื้อนเปียก

สำหรับอาการของโรคเรื้อนเปียกแบ่งเป็น แบบเฉพาะที่ มักพบที่บริเวณแก้ม เหนือคิ้ว ขาหน้า โดยสุนัขจะมีขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีแผลอักเสบ เป็นตุ่มแดงๆเล็กๆ ซึ่งปกติแล้วรอยโรคจะเกิดขึ้นเองและจะหายไปเองได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ถ้ามีอาการอักเสบมีตุ่มหนองด้วยต้องรีบพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์นะคะ เพราะจะลามเป็น แบบกระจายได้ โดยรอยโรคจะกระจายเป็นบริเวณกว้าง พบได้ตั้งแต่ส่วนของใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า

ภาพแสดงการเกิดขี้เรื้อนเปียกแบบกระจาย

สำหรับการตรวจนั้น จะคล้ายกับการตรวจขี้เรื้อนแห้ง คือ การใช้ใบมีดขูดผิวหนังและนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยจะวินิจฉัยว่าสุนัขตัวนั้นเป็นโรคนี้ เมื่อมี 2 ปัจจัยพร้อมกัน คือ
1. ตรวจพบเชื้อจำนวนมาก 

2. มีอาการร่วมหรือวิการแสดงทางผิวหนัง

นส่วนการรักษาโรคขี้เรื้อนเปียกนั้น มีหลายวิธีอาทิเช่น

1. การฉีดยาฆ่าตัวไรขี้เรื้อน

2. การใช้ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าตัวไร โดยทาบริเวณที่เป็นรอยโรค

3. การกินยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าตัวไร
ที่สำคัญคือ ควรพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัดค่ะ