โรคตาในสุนัขพันธุ์บูลด๊อก และบีเกิ้ล
0 Vote 15723 Views
โรคตาในสุนัขพันธุ์บูลด๊อก และบีเกิ้ล

สุนัขแต่ละพันธุ์มีแนวโน้มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ แตกต่างกันไป อาทิ สุนัขพันธุ์ EnglishBulldog เป็นพันธุ์หนึ่งที่มักพบว่ามีปัญหาโรคตา โดยปัญหาโรคตาที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์นี้ คือต่อมของหนังตาที่สามยื่นโผล่ออกมา เราเรียกโรคตานี้ว่า โรคเชอร์รี่อาย (Cherry eye ), โรคตาแห้ง (Dry eye), โรคต้อกระจก (Cataract), ขนตางอกผิดปกติ (Distichiasis), ขนตางอกทิ่มเข้าเปลือกตาด้านใน (Ectopic cilia), หนังตาม้วนออก (Ectropion), หนังตาม้วนเข้า (Entropion),หนังบริเวณหน้าผากย่นมากเกินไป (Forehead skin redundant), ขนบริเวณหนังย่นที่จมูกทิ่มเข้าตา (Nasal fold trichiasis), ช่องตาใหญ่ผิดปกติ หรือรูปร่างผิดปกติ (Palpebral fissures versized/diamond eyes) เป็นต้น

สำหรับสุนัขพันธุ์ Beagle ก็พบปัญหาโรคตาได้แก่ ต่อมของหนังตาที่สามโผล่ยื่น (Cherry Eye), ตาแห้ง (Dry Eye), ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคประจำสายพันธ์เช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสุนัขพันธ์บูลด๊อกและสุนัขพันธ์บีเกิ้ล นี้มีโรคที่พบร่วมกันคือ โรคของต่อมหนังตาที่สามโผล่ยื่น (Cherry Eye) และตาแห้ง (Dry Eye) แต่ปัญหานี้ก็พบได้มากในสุนัขพันธุ์อื่นๆด้วยเช่นกัน งั้นเรามารู้จักโรคตาทั้งสองโรคนี้กันสักหน่อย ต่อมของหนังตาที่สามโผล่ยื่น ( Cherry Eye หรือที่เรียกทั่วๆไปว่าโรคตาเชอร์รี่อาย ) ต่อมหนังตาที่สามนี้ปกติมีหน้าที่เป็นแหล่งหลักในการสร้างน้ำ การโผล่ยื่นให้เห็นเกิดจากเนื้อเยื่อที่ยึดต่อมอ่อนแอ หรืออาจจะอักเสบและมีการติดเชื้อร่วมกัน

นอกจากนั้นการที่กระดูกอ่อนที่ยึดต่อมยาวมากเกินไปหรือพลิกออกมาจากตำแหน่งปกติก็เป็นสาเหตุให้ต่อมที่หนังตาที่สามโผล่ออกมาได้ การโผล่ยื่นของต่อมที่หนังตาที่สามอาจพบที่ตาข้างเดียวหรือตาทั้งสองข้างก็ได้ หรืออาจเกิดพร้อมๆกันทั้งสองข้างก็ได้ โรคเชอร์รี่อายหรือต่อมของหนังตาที่สามโผล่ยื่น แก้ไขโดยการผ่าตัดเย็บต่อมกลับด้วยวิธีที่เรียกว่า Pocket technique โดยในรายที่มีปัญหากระดูกอ่อนที่ยึดต่อมยาวหรือพลิกออกมา ต้องทำการตัดกระดูกอ่อนนั้นออกบางส่วนด้วย (Partial cartilage removal) เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นใหม่

ส่วนวิธีตัดต่อมออก (Cherry eye removal) เป็นวิธีเก่า ซึ่งปัจจุบันไม่แนะนำวิธีนี้แล้ว เนื่องจากต่อมที่หนังตาที่สามเป็นแหล่งหลักในการสร้างน้ำตา ดังนั้นการตัดออกจะทำให้เกิดภาวะตาแห้ง (dry eye, KCS) ตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายพันธุ์นี้ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคตาแห้งอยู่แล้ว หลังการผ่าตัดควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะไหมที่ใช้เย็บมีขนาดเล็กมาก และมีหากเกิดการบวมอักเสบหลังการผ่าตัด ควรใส่ปลอกคอ(Elizabethan collar) ตลอดเวลาในช่วงแรกระวังการกระทบกระแทก การระคายเคือง การเกาตาหรือไถหน้า อาจจำเป็นต้องแยกเลี้ยงหรือกักบริเวณ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆหลังการผ่าตัด เช่น เคืองตามากขึ้น ตาแดง น้ำตาไหล หากเกิดอาการเหล่านี้ควรพาน้องหมามาตรวจ และหลังผ่าตัดควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอ เนื่องจากถ้าหากไหมเย็บขาดก่อนแผลเย็บติดจะทำน้องหมากลับมาเป็นเชอร์รี่อายใหม่ซึ่งการแก้ไขในครั้งต่อไปจะต้องรอระยะเวลาและทำได้ยากขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ควรใช้ยาป้ายตาหรืออาจใช้วิธีประคบอุ่นที่หัวตา นวดกดต่อมให้ลงไป ซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเกิดการอักเสบได้ และการนวดกดต่อมลงไปจะใช้ได้ผลแค่ในบางกรณี ส่วนมากได้ผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น และจะกลับมาเป็นโรคตาเชอร์รี่อายใหม่


ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
แผนกโรคตา