โรคสะบ้าเคลื่อน Patellar Luxation(PL)
1 Vote 23066 Views
โรคสะบ้าเคลื่อน Patellar Luxation(PL)

“สะบ้า”หรือ “ลูกสะบ้า (patellar)” เป็นกระดูกที่มีลักษณะกลมรี แบนๆ อยู่บริเวณหัวเข่า
ตามปกติลูกสะบ้านี้จะวางอยู่ บนร่องกลางหัวเข่า โดยมีเอ็นรวมของกลุ่มกล้ามเนื้อ quadriceps
ที่เรียกว่า patellar ligament พาดผ่านคอยกักเก็บลูกสะบ้า ไว้ให้อยู่ในร่อง trochlear sulcus
เพื่ออำนวยความสะดวกเวลาน้องหมายึด-หดขา ซึ่งลูกสะบ้านี้ก็จะเคลื่อนที่ขึ้น-ลงไปมาในร่องดังกล่าว

ความผิดปกติของลูกสะบ้าที่เกิดขึ้นในสุนัขพันธุ์เล็ก

ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นลักษณะของการเคลื่อนหลุดออกมาจากร่อง เรียกว่า โรคสะบ้าเคลื่อน
(Patellar luxation) โดยพบว่าลูกสะบ้าจะเคลื่อนออกไปทางด้านใน (medial) มากกว่าเคลื่อน
ออกไปทางด้านข้าง (lateral)ของร่องกระดูกต้นขาหลัง

*ไม่มีใครทราบว่าทำไมถึงเกิดในสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่า อาจจะเพราะกล้ามเนื้อด้านในอาจจะบางกว่า
*เอ็นของกระดูกสะบ้าผิดปกติไป อาจจะเกิดจากกระดูกก่อน หรือกล้ามเนื้อก่อนก็ได้
*เป็นโรคทางพันธุกรรม ส่วนหนึ่งเกิดจากยีนเลยมีการถ่ายทอดมาสู่ลูก
*กล้ามเนื้อของ เอ็น ที่หย่อนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น พื้นลื่น เดินแล้วขาลื่นไปทำให้โครงสร้าง
ต่างๆเสียหาย อาจจะทำให้เกิดสะบ้าเคลื่อนที่ ไม่ได้เกิดมาจากกำเนิดแต่พัฒนาขึ้นมาภายหลังได้

สุนัขพันธุ์เล็กที่พบโรคสะบ้าเคลื่อนได้บ่อย ได้แก่ พันธุ์ปอมเมอเรเนียน (พบมากที่สุด) พันธุ์ชิวาวา
พันธุ์ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย พันธุ์ออสเตรเลียนเทอร์เรีย พันธุ์ทิเบตันสเปเนียล พันธุ์เจเปนนิส-ชิน พันธุ์มิ-กิ
พันธุ์บอสตันเทอร์เรีย พันธุ์นอร์ฟ็อกเทอร์เรีย พันธุ์ปักกิ่ง พันธุ์พูเดิ้ลทอย พันธุ์มอลตีส พันธุ์ชิสุ ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าเข่าของสุนัขเกิดจากการเชื่อม ต่อระหว่างกระดูกโคนขา กระดูกหน้าแข้ง และ ลูกสะบ้า
ลูกสะบ้าจะถูกยึดด้วยเส้นเอ็นยึด ลูกสะบ้าเข้ากับกระดูกหน้าแข้งโดยปกติแล้ว สะบ้าจะเคลื่อนที่ขึ้น-ลง
ไปตามเบ้าสะบ้า หากเบ้าสะบ้าตื้นจนเกินไป จะทำให้ เอ็นที่ยึดเข่าเคลื่อนที่ไป ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
ก่อให้เกิดความบิดเบี้ยวของกระดูกโคนขาและกระดูกหน้าแข้ง และเมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้ลูกสะบ้าเคลื่อน
ออกจากเบ้าสะบ้า ซึ่งอาการที่ลูกสะบ้าหลุดออกจากตำแหน่ง ที่ควรจะเป็นนั้น ก็คือโรคสะบ้าเคลื่อน
หรือ Patella Luxation (PL)

เราสามารถแบ่งเกรดตามระดับความรุนแรงของโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขได้ ดังนี้

เกรด 1 ลูกสะบ้ายังคงอยู่ในร่องอยู่ อาจเคลื่อนออกมาจากร่องเป็นบางครั้ง เวลาใช้มือจับดันสามารถ
เลื่อนหลุดออกมาได้ง่าย แต่เมื่อปล่อยก็จะเด้งกลับมาอยู่ใน ร่องเดิมได้อยู่ สุนัขอาจยังไม่แสดงอาการ
ไม่ร้องปวด หรือเดินผิดปกติ เกรด

เกรด 2ลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาบ่อยครั้งขึ้น เวลาหลุดออกมาจะค้างอยู่บริเวณนอกร่อง บางครั้ง
อาจร้องปวดและเดินยกขาหลัง สุนัขที่มีลูกสะบ้าเคลื่อน ในระดับนี้เป็นเวลานาน อาจพบกระดูกอ่อนที่ผิว
ข้อถูกทำลาย จากการที่ลูกสะบ้าเสียดสีกับสันกระดูก และอาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้

เกรด 3 ลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาตลอดเวลา และอาจพบการบิดของกระดูกขาด้วย โดยบิดอยู่
ประมาณ 30-50 องศา สุนัขไม่สามารถเหยียดขาได้ จึงอยู่ใน ท่ายกขางอข้อเข่า ไม่ยอมลงน้ำหนักและ
มีอาการเจ็บปวดตลอดเวลา แต่อาจสามารถดันลูกสะบ้า กลับได้ด้วยการเหยียดข้อเข่าและบิดกระดูกได้
แต่ถ้ามีการงอ หรือมีการใช้ขาอีก ลูกสะบ้าก็จะเคลื่อนกลับออกไปอยู่นอกร่องเหมือนเดิม

เกรด 4 ลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดไปอยู่นอกร่องอย่างถาวร ไม่สามารถดันกลับได้แล้ว กระดูกขาก็จะบิดไป
มากกว่า 50-90 องศา ร่องที่รองรับลูกสะบ้าอาจตื้น หรือหายไปเลย สุนัขจะร้องปวดตลอดเวลา ไม่สามารถ
เหยียดข้อเข่าได้ และเดินขาลาก หากสุนัข เพิ่งเริ่มเป็นเกรดต่ำๆ เจ้าของอาจยังไม่ทราบ และสังเกตไม่
พบอาการ เพราะสุนัขยังคงเดินได้ปกติ ถึงแม้จะมีเคลื่อนออกก็สามารถกลับ เข้าร่องได้เอง จนเมื่อใดที่
สุนัขแสดงอาการร้องปวด เดินยกขา ขาบิดจนโก่งงอ ไม่สามารถเหยียดข้อเข่าและลงน้ำหนักที่เท้าได้แล้ว
เมื่อนั้นอาการของโรคก็ พัฒนาไปไกลเป็นเกรดสูงๆ แล้ว

ถ้าสุนัขเริ่มแสดงอาการตามข้างต้น หรือยังไม่แสดงอาการแต่เป็นพันธุ์เสี่ยง เจ้าของสามารถ
พาไปตรวจกับสัตวแพทย์ หากเป็นพันธุ์เสี่ยงสามารถพาไปตรวจได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป

ซึ่งวิธีการตรวจจะเริ่มจากการตรวจร่างกายทางกายภาพ คุณหมอจะสังเกตท่าทางการนั่ง ลุก ยืน เดิน วิ่ง
เพื่อดูตำแหน่งการใช้ขา การวางเท้าและคลำตรวจข้อเข่า หากพบความผิดปกติจะทำการถ่ายภาพรังสี
(เอ็กซเรย์)เพื่อยืนยันการเคลื่อน และประเมินการผิดรูปของกระดูกตลอดจนดูการเสื่อมของข้อไปด้วย

วิธีการรักษา

สำหรับสุนัขที่เป็นโรคสะบ้าเคลื่อน การรักษาจะขึ้นอยู่กับเกรดความรุนแรงของโรค โดยหากเป็นไม่มาก
เกรด 1 อาจจะใช้วิธีการรักษาทางยา ร่วมกับการทำกายภาพ และควบคุมน้ำหนัก ยาที่กินอาจเป็นยาแก้ปวด
และยาบำรุงข้อ แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้คือการทุเลาอาการ อาจมีการพัฒนาของโรคไปสู่เกรดสูงๆได้
ในอนาคต สุนัขที่เป็น มากขึ้นตั้งแต่เกรด 2 ขึ้นไป อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดร่วมด้วย โดย
วิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี แต่ละวิธีจะมีจุดประสงค์ เพื่อจัดแนวกระดูกสะบ้าให้อยู่ในร่องของกระดูกต้นขาหลัง
สุนัขบางพันธุ์ร่องตรงนี้มันตื้น หรือมีลักษณะนูนขึ้น ก็เลยไม่มีตำแหน่งให้สะบ้าไปอยู่ การรักษาก็คือการผ่าตัด
เข้าไปทำให้ร่องของกระดูกต้นขาลึกขึ้น แล้วก็มีการจัดแนว ของกลุ่มกล้ามเนื้อให้อยู่ในแนวปกติ
แก้ไขทุกๆส่วนโดยอาศัยการผ่าตัดหลายๆวิธีมารวมกัน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการผ่าตัดใด้

การดูแลหลังผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า

เนื่องจากสุนัขหลังผ่าตัดมักจะไม่ยอมใช้ขา ไม่ยอมลงน้ำหนักขาข้างที่ได้รับการผ่าตัด การทำกายภาพ
บำบัดภายหลังการผ่าตัดกระดูก จึงมีส่วนช่วยลดความเจ็บปวด ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างและส่งเสริมการ
หายของแผล ทั้งยังเป็นการช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ช่วยให้การทำงานของข้อต่อดีขึ้น ซึ่งทำให้สุนัขกลับมา
ใช้ขาได้เร็วขึ้นด้วย หลังผ่าตัดเจ้าของต้องควบคุมการใช้ขา งดกระโดดและเดินขึ้นลงบันได หลีกเลี่ยง
การเดินบนพื้นลื่น เป็นระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ ขบวนการอักเสบจะเกิดขึ้นใน 3 วันแรกหลังการผ่าตัด
ช่วงนี้เจ้าของอาจใช้วิธีประคบเย็นบริเวณโดยรอบแผลผ่าตัดที่เกิดการอักเสบ โดยประคบครั้งละ
15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง ระหว่างทำให้สังเกตสีผิวด้วย สีผิวต้องไม่ซีดลง และควรหลีกเลี่ยงการ
ประคบบริเวณที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำเช่นนี้ร่วมกับการป้อนยาลดปวด-แก้อักเสบใน 3 วันแรก

แนวทางการป้องกันและชะลอความความรุนแรงของโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขพันธุ์เล็ก
สามารถทำได้ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือเล่นที่อาจส่งผลต่อกระดูกข้อเข่า เช่น การกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ที่สูง
หรือวิ่งขึ้นลงบันไดเร็วๆ การเล่นแรงๆ ที่อาจไปกระทบกระแทกข้อเข่า

2.หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือการเดินบนพื้นลื่นๆ เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นปาร์เก้ พื้นหินอ่อน ฯลฯ

3.พยายามตัดขนที่ฝ่าเท้าให้เรียบ อย่าให้ยาวจนมาปกคุลมฝ่าเท้า เพราะจะทำให้ลื่นเวลาก้าวเดิน

4.คล้ายกับการที่คนเราสวมถุงเท้าแล้วเดินบนพื้นลื่นๆ

5.ต้องควรคุมน้ำหนักอย่าให้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะจะส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักมากเกินไปเลือกอาหาร
ที่มีส่วนผสม ของสารบำรุงข้อ เช่น กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อช่วยซ่อมแซมและรักษาผิวข้อ
และเพิ่มการสร้างน้ำไขข้อ ซึ่งเป็นสารหล่อลื่นช่วยลดแรงกระแทก ป้องกันโรคข้อเสื่อมที่จะตามมา

สารเสริมอื่นๆ ได้แก่ พวกโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบของข้อ หรือสารต่อต้านอนุมูลอิสระต่างๆ
เช่น วิตามินซี วิตามินอี ฯลฯ ช่วยป้องการการเสื่อม ของกระดูกและข้อได้ ทั้งนี้หากจะเสริมอะไรควรปรึกษา
สัตวแพทย์

6.ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น พาเดินหรือวิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรง
ช่วยใน การรองรับน้ำหนัก และทำให้การเคลื่อนไหวมั่นคงยิ่งขึ้น เจ้าของที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์เล็ก อาจซื้อ
สระยางแบบเป่าลมของเด็ก มาให้น้องหมาหัดว่ายน้ำก็ได้ครับ

7.สำหรับสุนัขพันธุ์เสี่ยงควรพาไปตรวจกับคุณหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้แสดงอาการแล้วค่อยพาไป
อย่างที่บอกว่าหากยังเป็นไม่รุนแรง การรักษาก็จะง่ายกว่า การฟื้นตัวภายหลังการรักษาก็จะง่ายกว่า


ทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ