การรักษาสุนัขที่มีอาการขาหลังไม่มีแรง
0 Vote 69072 Views

อาการสุนัขขาหลังไม่มีแรง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และพบได้ทุกช่วงวัย เจ้าของมักจะพาน้องหมามาหาหมอด้วยอาการเดินเซ เดินขาหลังปัด เดินแล้วล้ม หรือลุกลำบาก ซึ่งสาเหตุของอาการเหล่านี้ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ จากโรคทางกระดูกและข้อ โรคทางระบบประสาท หรือแม้แต่โรคทางอายุรกรรมอื่น ๆ

ดังนั้นการหาสาเหตุของอาการจึงต้องได้รับการวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ ร่วมกับการซักประวัติเจ้าของ เพื่อให้วางแผนการรักษาได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับน้องหมาแต่ละตัวค่ะ

โรคที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของสุนัขขาหลังไม่มีแรง ได้แก่

โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) เป็นโรคทางกระดูกและข้อที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น โกลเดน รีทีฟเวอร์ล, ไซบีเรียน ฮัสกี, ลาบาดอร์ รีทีฟเวอร์ และ เยอรมันเชฟเฟิร์ด เป็นต้น

โรคนี้เป็นความผิดปกติของการเจริญของข้อสะโพก ส่งผลให้เกิดภาวะข้อสะโพกเสื่อมตามมา ในรายที่เป็นรุนแรงอาจแสดงอาการตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกสุนัขขาหลังอ่อนแรง จึงควรรีบพาน้องหมามาพบแพทย์ในทันทีนะคะ
โรคของไขสันหลัง ได้แก่ โรคไขสันหลังเสื่อม (Degenerative myelopathy), หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท (Intervertebral disc disease), เนื้องอกในไขสันหลัง (Tumor) และ ไขสันหลังบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการเกิดโรคที่ไขสันหลังจะส่งผลให้สุนัขเป็นอัมพาตได้
วิธีการรักษาอาการขาหลังอ่อนแรง ทั้งจากโรคทางกระดูกและข้อ และโรคของไขสันหลัง ประกอบด้วย การรักษาด้วย

การผ่าตัด
การรักษาทางยา
การทำกายภาพบำบัด
ซึ่งเรามักจะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันโดยปรับเปลี่ยนตามสภาพร่างกายของสุนัข และความรุนแรงของโรคค่ะ

การรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะนิยมทำในรายที่วิธีการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยมีจุดประสงค์หลายอย่าง ทั้งเพื่อลดความเจ็บปวด เพื่อปรับโครงสร้างให้ใกล้เคียงกับปกติ หรือเพื่อเอาเนื้องอกออก

การรักษาทางยา นิยมใช้ในรายที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดไม่สามารถผ่าตัดได้ กลุ่มยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาลดปวดลดอักเสบ ยาบำรุงข้อ และ วิตามินต่าง ๆ

การทำกายภาพบำบัดสุนัข เป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่ปัจจุบันนิยมที่ใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ลดอาการปวด ฟื้นฟู และเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อและระบบประสาท การกายภาพบำบัดมีทั้งแบบใช้อุปกรณ์ และไม่ใช้อุปกรณ์ ยกตัวอย่างเช่น การยืดหดข้อต่อ (PROM) การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เครื่องเลเซอร์ จนถึงการทำธาราบำบัด (คลิกอ่านรายละเอียดการทำธาราบำบัดสำหรับน้องหมา สระว่ายน้ำ สายพานใต้น้ำ ได้ค่ะ) เป็นต้น

คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติมของศูนย์กายภาพบำบัดสุนัข น้องแมว และสัตว์เลี้ยง ได้ค่ะ

นอกจากวิธีการรักษาที่กล่าวมาแล้วการจัดการที่อยู่อาศัยไม่ให้พื้นลื่น และการควบคุมอาหารไม่ให้สุนัขอ้วนจนเกินไปก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยค่ะ



..........................................................
บทความโดย

สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์
สัตวแพทย์ประจำศูนย์กายภาพและผิวหนังสัตว์เลี้ยง

ขอบคุณภาพประกอบจาก : Cummings Veterinary Medicine, For-dogs-sake, America Kennel club และ crozetgazette