สัตวแพทย์ไทย เปลี่ยนข้อสะโพกให้น้องหมาได้สำเร็จ
1 Vote 9563 Views
สัตวแพทย์ไทย เปลี่ยนข้อสะโพกให้น้องหมาได้สำเร็จ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกน้องหมา : ความก้าวหน้าในการรักษาสุนัขให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นโรคที่พบได้เป็นประจำกับสุนัขทุกสายพันธ์ุ ทุกเพศทุกวัย อาการของสุนัขที่เป็นโรคนี้คือ เดินได้ลำบาก เดินแบบโหย่งขา เดินลากขา ในบางตัวเดินแบบกระโดดคล้ายกระต่าย ( Bunny -hopping) บางรายที่อาการหนักคือไม่เดิน เมื่อไม่เดินนานเข้าก็ลามไปเป็นกล้ามเนื้อลีบ พิการจนเดินไม่ได้ สาเหตุของโรคนี้มาจากพันธุกรรมเป็นมาแต่กำเนิด

การตรวจน้องหมาเพื่อหาข้อสะโพกเสื่อมเริ่มเมื่ออายุเท่าไร

โรคข้อสะโพกเสื่อม สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือน หากทราบว่าสุนัขเราเป็นแน่นๆ
ก็สามารถวางแผนวิธีการรักษาได้แต่เนิ่นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของสุนัขจะพามาหาหมอเมื่ออาการลุกลามถึงขั้นเดินไม่ได้แล้ว การให้ยาลดปวดจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากข้อที่เสื่อม ซึ่งจะเป็นการรักษาตามอาการ ส่วนการรักษาที่ต้นเหตุเพื่อให้หายขาดนั้นคือการผ่าตัด การตัดหัวกระดูกและคอกระดูกซึ่งเป็นการบรรเทาความเจ็บปวดแบบทั่วไปที่ทำกันอยู่ สุนัขจะเดินได้โดยไม่เจ็บแต่ไม่สามารถเดินได้แบบปกติร้อยเปอร์เซนต์ ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีการพัฒนาอวัยวะเทียม เพื่อให้สร้างคุณภาพชีวิตให้สัตว์เลี้ยงเราจึงมี “ข้อสะโพกเทียม” เพื่อนำมาเปลี่ยนใส่ให้กับสุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม

บุ้งกี๋ หมาพันธุ์เล็กตัวแรกที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกในเมืองไทย

“บุ้งกี๋” หมาพันธุ์ปอมเมริเนียน เพศผู้อายุ 9 ปี ของคุณปณิชา บรรจงราชเสนา มีอาการขาหลังด้านซ้ายสั่น ไม่ยอมให้จับเพราะเจ็บ ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นอะไร เป็นมาตั้งแต่ เมษายน 2560 พอเดือนต่อมา พาน้องไปอาบน้ำ น้องไม่ยอมให้จับขาเลย คุณหมอเจ้าของร้านอาบน้ำเลยจับเอ๊กซ์เรย์ พบข้อสะโพกเสื่อม เลยให้ทานยาแก้ปวดพร้อมยาน้ำเลี้ยงข้อต่อเพื่อลองดูก่อนว่าจะตอบสนองกับยามั้ย ปรากฏว่าอาการก็ยังไม่ดีขึ้น จึงไม่อยากให้น้องทานยาแก้ปวดอีกต่อไปเพราะจะมีผลต่อตับและไต หมอเลยแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เกษตรหรือโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน แต่ รพ.สัตว์เกษตรเราไม่สะดวก เลยมาที่โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้พบกับหมอตั๋ง ( น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ สัตว์แพทย์ประจำศูนย์ข้อและกระดูก) พบว่าข้อสะโพกเสื่อมจริง “หมอเลยแนะนำวิธีการรักษา 2 แบบ คือ 1. ตัดหัวกระดูก เป็นวิธีเดิม 2. เปลี่ยนข้อสะโพก ซึ่งเป็นวิธีใหม่ ซึ่งคุณหมอได้แจกแจงอย่างละเอียดทั้งข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 วิธี แล้วให้เราตัดสินใจเอง ”

คุณปณิชาเคยอ่านเจอว่าที่โรงพยาบาลสัตว์เกษตรมีการเปลี่ยนข้อสะโพกเหมือนกัน (เมื่อปี 2552) แต่เป็นการเปลี่ยนข้อสะโพกกับสุนัขพันธ์ใหญ่ และตอนนั้นมี Assoc.Prof.Dr.Jonathan Dyce สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดข้อสะโพกสุนัขจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ Ohio State University ประเทศสหรัฐอเมริการ่วมผ่าตัดด้วย แต่ตอนนี้ผ่าตัดกับสัตวแพทย์คนไทยล้วนๆ และสุนัขพันธ์เล็กแบบปอมเมริเนียนยังไม่เคยมีใครผ่าตัดมาก่อน ต้องบอกว่าตอนนั้นคุยกับหมอตั๋ง แล้วดูแววตา ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ในการดูแลรักษา ย้ำกับเราว่าทำแล้วชีวิตบุ้งกี๋จะเปลี่ยน การฟื้นตัวไวมากกว่าการตัดหัวกระดูก ตอนนั้นตัดสินใจทำเลย ไม่กลับบ้านคิดด้วยซ้ำ ด้วยความเห็นความตั้งใจทำงานของหมอ

การผ่าตัดมีปัญหาที่สุขภาพของบุ้งกี๋ เพราะเขาเป็นโรคหัวใจและโรคลมชัก ซึ่งต้องมีหมอเฉพาะทางด้านโรคหัวใจมาร่วมดูแล ขั้นตอนต่อมาคือรออุปกรณ์ที่ทั้งหมดสั่งมาจากสหรัฐอเมริกาใช้เวลาอีกหนึ่งเดือนกว่าของจะเดินทางมาถึง บุ้งกี๋ ได้ผ่าตัดในเดือนสิงหาคม 2560 ใช้เวลาในการผ่าตัดถึง 6 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งเป็นเวลาที่บีบคั้นหัวใจมากสำหรับการรอคอย หลังการผ่าตัดบอกได้เลยว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลย บุ้งกี๋สามารถเดินลงเท้าได้ภายในสัปดาห์แรกเลย และเราแค่ควบคุมการเดินการวิ่งไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้กระดูกและแผลสมาน เราไม่ต้องทำกายภาพบำบัด ภายใน 1 เดือนทุกอย่างก็เป็นปกติ บุ้งกี๋เดินได้ใช้ขาได้ปกติแบบที่ไม่คาดคิด และทุกวันนี้คุณภาพชีวิตของ บุ้งกี๋ ดีขึ้นมาก อารมณ์ดี ร่าเริงอย่างเห็นได้ชัด

น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ คุณปณิชา และน้องบุ๊งกี๋

น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ : หมอต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ให้เจ้าของสุนัขเป็นผู้ตัดสินใจ

การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม วิธีเดิมๆ ที่เราเรียนรู้กันมาและใช้กันทั่วไป คือ การผ่าตัดตัดหัวกระดูก เพื่อแก้ปัญหา บรรเทาความเจ็บปวด และพอให้เขาเดินได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เป็นการสร้างอวัยวะเทียมให้ฟังชั่นเหมือนอวัยวะจริงทำให้การเดินไม่เจ็บปวดและเดินเป็นปกติ สร้างคุณภาพชีวิตให้กับสุนัข

เคสของบุ้งกี๋ ถือว่าเป็นช่วง Learning Curve ของโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เราต้องการจำนวนเคส ดังนั้นค่าใช้จ่ายเราจึงแชร์กันระหว่าง เจ้าของกับโรงพยาบาล เพราะต้องสั่งอุปกรณ์สะโพกเทียมและเครื่องมือผ่าตัดไซส์เล็กมาทั้งหมดเนื่องจากเป็นเคสแรกของประเทศไทย แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงแต่เราต้องการพัฒนาวิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมว่า สัตว์แพทย์คนไทยสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกได้สำเร็จ ในขณะที่ในอเมริกาทำได้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เคสบุ้งกี๋ จึงพิสูจน์ว่าวันนี้คนไทยทำได้สำเร็จ เราไม่จำเป็นต้องส่งสุนัขไปรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกที่เมืองนอกอีกต่อไป

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกคือ สุนัขใช้ขาได้เร็วกว่าวิธีอื่น การตัดหัวกระดูกกว่าจะเดินลงขาได้ใช้เวลา 3 สัปดาห์ แต่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ใช้เวลาแค่ 2-3 วันก็เดินลงน้ำหนักขาได้ ประการสำคัญคือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ไม่ต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งกายภาพบำบัดไม่สามารถคำนวณได้ว่าทำแล้วสุนัขจะเดินได้เร็วมั้ย อาการจะดีขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครตอบได้ชัดเจน หากลองคำนวณดูระหว่างการที่เราเสียเวลาและค่าทำกายภาพ กับค่าใช้จ่ายค่าผ่าตัดเงินก้อนตรงนี้ อะไรจะคุ้มกว่ากัน
ท้ายที่สุดที่หมอตั๋ง น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ อยากฝากไว้กับเจ้าของสุนัขคือ ข้อมูล เพราะโรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นโรคทางพันธุกรรม หากพบว่าสุนัขของเราเป็นก็ควรทำหมันเสียเพื่อควบคุมโรค และ เป็นโรคที่เราพบได้กับสุนัขทุกสายพันธุ์ ทุกเพศ ทุกวัย เมื่อสุนัขมีอาการเดินผิดปกติ สุนัขไม่มีสิทธิ์ อะไรเลย เขาจะหายมาเดินได้หรือหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าของ แต่เมื่อเขาป่วย เขาต้องการการรักษา ข้อมูลการรักษาที่ถูกต้องนั้นสำคัญมาก เจ้าของสุนัขเป็นผู้เดียวที่มีอาญาสิทธิ์ที่จะมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เขา เขาจะเดินได้ หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความรักและความรู้ที่ “คุณ” มี

หมอเคารพการตัดสินใจของเจ้าของสุนัขและขอเผยแพร่ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ให้เจ้าของสุนัขได้ทราบเพื่อการตัดสินใจที่ดีของคุณ เพราะคุณอาจจะมีสุนัขได้หลายตัว แต่สุนัขเขามีเจ้านาย คือ คุณ เพียงคนเดียว

ลิงค์ข่าว: https://www.matichon.co.th/news/794597