สะบ้าหลุด ฉุดยังไงดี!?
0 Vote 17219 Views
สะบ้าหลุด ฉุดยังไงดี!?

สะบ้าหลุด หรือสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation ) เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิวาวา พุเดิ้ลทอย มอลทีส เป็นต้น กระดูกสะบ้าเป็นกระดูกรูปไข่ แบนๆ อยู่บริเวณหัวเข่ามีหน้าที่ช่วยในการยืด และหดขา การเคลื่อนหลุดออกของลูกสะบ้า เกิดได้ใน 2 ลักษณะคือการเคลื่อนออกไปทางด้านใน (medial) และการเคลื่อน ออกไปทางด้านข้าง (lateral)ของร่องกระดูกต้นขาหลัง
เราสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของโรคสะบ้าเคลื่อนได้ดังนี้ค่ะ
ระดับที่ 1 สะบ้าเคลื่อนออกนอกร่องขณะ ใช้มือดันออก แต่เมื่อปล่อยมือสะบ้าจะกลับมาอยู่ ในตำแหน่งปกติ สุนัขอาจยกขาในจังหวะที่สะบ้า เคลื่อนออก สุนัขมักไม่แสดงอาการเจ็บ ระดับที่ 2 การเคลื่อนของสะบ้ามักเกิดขึ้นได้บ่อย สุนัขที่มีสะบ้าเคลื่อนในระดับนี้เป็นเวลานาน อาจพบการกร่อนของผิวด้านในของสะบ้าและผิว สัมผัสของสันกระดูกที่สะบ้ามีการเสียดสี สุนัขอาจ แสดงอาการเจ็บขาและเดินผิดปกติ ระดับที่ 3 สะบ้ามักเคลื่อนหลุดตลอดเวลา อาจมีการบิดของกระดูก tibial tuberosity มักพบว่า สุนัขไม่สามารถเหยียดขาได้เต็มที่ อาจพบการผิด รูปร่างของกระดูกขาหลังในสุนัขที่อายุน้อยกว่า 1 ปี สุนัขจะแสดงอาการเดินผิดปกติและเจ็บขา ระดับที่ 4 เกิดการเคลื่อนของสะบ้าอย่าง ถาวร โดยที่ไม่สามารถดันกลับได้ ในสุนัขอายุน้อยที่ มีสะบ้าเคลื่อนระดับรุนแรงมักพบมีการบิดและการ เจริญผิดรูปของกระดูกขาหลัง ร่องที่รองรับสะบ้าตื้น หรือหายไป สุนัขมักเจ็บขาตลอดเวลาไม่สามารถ เหยียดข้อเข่าได้ (อ้างอิงจาก The Journal of Thai Veterinary Practitioners 2012)
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากอยู่ในระดับ 1 อาจจะใช้วิธีการรักษาทางยา ร่วมกับการทำกายภาพ และควบคุมน้ำหนัก หากอยู่ในระดับ 2 ขึ้นไป สุนัขเริ่มแสดงอาการผิดปกติ ของขา ควรได้รับการผ่าตัด เพื่อจัดแนวของกลุ่มกล้ามเนื้อต้นขาให้กลับสู่แนวปกติและป้องกันการผิดรูปของกระดูกขาหลัง โดยวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อ และการผ่าตัดกระดูก เช่น การผ่าเซาะร่องกระดูกให้ลึกขึ้น การใช้ไหมเย็บรั้งกระดูกสะบ้า และเอ็นให้เข้าร่องกระดูก เป็นต้น ทั้งนี้สัตวแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดตามความรุนแรงของโรค หลังผ่าตัดสุนัขจำเป็นได้รับการกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้ขากลับมาใช้งานได้ตามปกติ สำหรับแนวทางการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้
คือ การไม่ให้สุนัขอ้วนเกินไปหรือควรพาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังในเรื่องการกระโดดหรือการวิ่งแรงๆ และหลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นลื่นๆ

โดยคุณหมอทิพย์ สพ.ญ.ฤทัยทิพย์ อุปริพุทธิ
คลีนิคกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์