“โรคฮอทฮิตในสุนัขตั้งครรภ์"...3 กรณีศึกษาสุนัขคลอดยาก
0 Vote 11600 Views
กรณีศึกษา 1
ข้อมูลสัตว์ป่วย

ชื่อ ปีโป้ พันธุ์ชิสุ เพศเมีย อายุ 2 ปี สุนัขตั้งท้องครบกำหนดคลอด ช่วงเช้าสุนัขแสดงอาการกระวนกระวายผุดลุกผุดนั่ง เจ้าของจึงพาสุนัขไปตรวจการตั้งท้องพบลูกสุนัขจำนวน 5 ตัว ต่อมาช่วงกลางคืน แม่สุนัขคลอดลูกออกมาเพียง 1 ตัว เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมงยังไม่พบลูกสุนัขตัวอื่นออกมา

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

เนื่องจากระยะเวลาการคลอดลูกสุนัขตัวแรกห่างจากจากตัวที่สองเกินมา 1-2 ชั่วโมง สัตวแพทย์จึงพิจารณาอัลตร้าซาวน์เพื่อตรวจสอบว่า ลูกสุนัขยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ผลอัลตร้าซาวน์พบว่า หัวใจของลูกสุนัขเต้นประมาณ 180 ครั้งต่อนาที (ลูกสุนัขที่แข็งแรง อัตราการเต้นของหัวใจควรมากกว่า 200 ครั้งต่อนาที) แสดงว่า ลูกสุนัขตัวนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเสียชีวิต จึงพิจารณาดูผลเอ็กสเรย์เดิม พบลูกจำนวน 5 ตัว แต่มี 1 ตัวที่ขนาดเล็กกว่าลูกตัวอื่นประมาณ 2 เท่า ขนาดหัวของลูกสุนัขอีก 4 ตัว มีขนาดเกือบเท่ากับช่องเชิงกรานของแม่สุนัข จึงแจ้งเจ้าของว่า แม่สุนัขมีโอกาสคลอดลูกตัวอื่นไม่ได้ หากให้ยากระตุ้นการคลอดอาจเสี่ยงอันตรายที่ลูกจะคลอดออกมาไม่ได้ และเสียชีวิตลง กรณีรุนแรงที่สุดคือ มดลูกอักเสบ หรือแตกจากการเบ่งคลอด

การรักษา

สัตวแพทย์จึงพิจารณาผ่าคลอดฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตลูก ๆ ที่เหลือ เจ้าของแจ้งให้สัตวแพทย์ทำหมันแม่สุนัขด้วย การผ่าตัดดำเนินไปด้วยดี ปลอดภัยทั้งแม่และลูกสุนัข แต่จากการผ่าคลอดพบลูกสุนัขเพียง 3 ตัว รวมกับสุนัขที่เพิ่งคลอดไปก่อนหน้า 1 ตัว จึงสอบถามเจ้าของเพิ่มเติม เจ้าของแจ้งว่าไม่เห็นซากรกหรือลูกสุนัขตัวเล็กเลย ดังนั้น ทีมสัตวแพทย์จึงเอ็กสเรย์อีกครั้ง ผลคือไม่พบลูกสุนัขตกค้างอยู่ เป็นไปได้ว่า ลูกสุนัขตัวที่เล็กที่สุด อาจหลุดไปก่อนหน้าแล้ว

การดูแลหลังผ่าตัด

เนื่องจากหลังคลอดคุณแม่ได้รับยาสลบ ยาลดปวด รวมถึงยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลผ่าตัด จึงแจ้งงดให้นมลูกสุนัข แจ้งเจ้าของให้ซื้อนมสำหรับลูกสุนัข และกกไฟให้ทั้งแม่และลูกสุนัข เพื่อให้ความอบอุ่น
นัดหมายเพิ่มเติม 3 วันหลังผ่าตัดตรวจแผลผ่าตัด และ นัด 7 วันเพื่อตัดไหม หากแผลแห้งดี

กรณีศึกษา 2
ข้อมูลสัตว์ป่วย

ชื่อปังปอนด์ พันธุ์ปอมเมอร์ริเนียน เพศเมีย อายุ 3 ปี สุนัขผสมมาประมาณ 2 เดือน ไม่เคยตรวจการตั้งท้อง ตอนเช้าแสดงอาการคุ้ยเขี่ย คล้ายหาที่คลอดลูก แต่ยังไม่แสดงอาการเบ่งคลอดออกมา เป็นมาประมาณ 1 วัน ตอนกลางคืนเจ้าของจึงพาสุนัขมาตรวจการตั้งท้อง

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

จากการคลำบริเวณช่องท้องสุนัข พบลักษณะก้อนแข็งกลางท้อง แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด สัตวแพทย์จึงทำการเอ็กสเรย์ พบว่ามีลูกสุนัข 1 ตัว แต่ขนาดศีรษะลูกสุนัขใหญ่กว่าช่องเชิงกรานแม่อย่างชัดเจน สัตวแพทย์จึงทำการอัลตร้าเพื่อตรวจการเต้นของหัวใจของลูกสุนัข พบว่าอัตราหัวใจอยู่ที่ประมาณ 200 ครั้งต่อนาที แต่แทบไม่พบน้ำคร่ำในถุงหุ้มตัวอ่อน จึงแจ้งว่าเจ้าของว่า แม่สุนัขตั้งท้องครบระยะแล้ว แต่ไม่สามารถคลอดลูกได้เองตามธรรมชาติเพราะศีรษะของลูกโทนตัวนี้เป็นอุปสรรคในการคลอด

การรักษา

สัตวแพทย์แนะนำ การผ่าคลอดเพื่อช่วยชีวิตลูกโทนให้ทันท่วงที จนกระทั่งการผ่าตัดสำเร็จผ่านไปได้ด้วยดี แข็งแรงดีทั้งแม่และลูกสุนัข เนื่องจากหลังคลอดคุณแม่ได้รับยาสลบ ยาลดปวด รวมถึงยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลผ่าตัด จึงแจ้งงดให้นมลูกสุนัข แจ้งเจ้าของให้ซื้อนมสำหรับลูกสุนัข และกกไฟให้ทั้งแม่และลูกสุนัข เพื่อให้ความอบอุ่น
นัดหมายเพิ่มเติม 3 วันหลังผ่าตัดตรวจแผลผ่าตัด และ นัด 7 วันเพื่อตัดไหม หากแผลแห้งดี

กรณีศึกษา 3
ข้อมูลสัตว์ป่วย

ชื่อสโนว์ พันธุ์มอลทีส เพศเมีย อายุ 1 ปี 8 เดือน น้ำหนัก 2.6 กิโลกรัม อุณหภูมิ 97 องศาฟาเรนไฮต์ สุนัขท้องครั้งแรก ตั้งท้อง 2 เดือน ยังไม่เคยตรวจการตั้งท้อง เบ่งคลอด และพบถุงน้ำคร่ำไหลออกมาจากอวัยวะเพศเมื่อ 45 นาทีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีลูกออกมา ไม่เคยฉีดยาคุม ผสมกับสุนัขพันธุ์ชิวาว่า

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

สุนัขมีช่องท้องขยายขนาดใหญ่ ไม่มีน้ำนมไหลออกมา พบถุงน้ำคร่ำ 2 ถุงที่อวัยวะเพศยังไม่แตกออก เมื่อการล้วง และดึงถุงน้ำคร่ำ แต่ไม่สามารถดึงออกได้ จึงทำการเอ็กสเรย์พบลูกน้อยจำนวน 3 ตัว มีขนาดศีรษะใหญ่ใกล้เคียงเกือบพอดีกับช่องเชิงกรานของแม่สุนัข เมื่ออัลตร้าซาวน์พบว่าหัวใจของลูกสุนัขยังเต้นดีแข็งแรง จึงแจ้งเจ้าของว่า สุนัขมีโอกาสที่จะคลอดเองได้บางตัว หากรอเวลาให้สุนัขคลอดเอง อาจทำให้ลูกอ่อนแอลง หรือคลอดไม่ออก

การรักษา

สัตวแพทย์และเจ้าของจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะ ผ่าตัดเพื่อช่วยคลอด แต่ไม่ทำหมัน การผ่าตัดผ่านไปด้วยดีแม่สุนัขฟื้นจากยาสลบอย่างปลอดภัย ลูกน้อยทั้ง 3 ตัวรอดชีวิตทั้งหมด เนื่องจากหลังคลอดคุณแม่ได้รับยาสลบ ยาลดปวด รวมถึงยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลผ่าตัด จึงแจ้งงดให้นมลูกสุนัข แจ้งเจ้าของให้ซื้อนมสำหรับลูกสุนัข และกกไฟให้ทั้งแม่และลูกสุนัข เพื่อให้ความอบอุ่น นัดหมายเพิ่มเติม 3 วันหลังผ่าตัดตรวจแผลผ่าตัด และ นัด 7 วันเพื่อตัดไหม หากแผลแห้งดี

Tips เล็ก ๆ เคล็ดไม่ลับ “มารับมือกับภาวะคลอดยาก รู้ไว้ช่วยได้ทั้งแม่และลูก”

1. สุนัขจะตั้งท้องใช้เวลาประมาณ 63 +/- 2วัน นับจากวันตกไข่โดยประมาณ แต่หากจะนับจากวันผสมระยะประมาณ 58-70 วัน สามารถพาสุนัขมาตรวจการตั้งครรภ์อย่างง่าย ไม่เจ็บปวด โดยการอัลตร้าซาวน์ อย่างเร็วที่สุดที่อายุครรภ์ 20 วันจะเห็นถุงน้ำและตัวอ่อนเล็ก ๆ ในมดลูก หรือถ้าจะยืนยันว่ามีลูก ควรอัลตร้าซาวน์ที่อายุครรภ์ 28 วัน จะเริ่มเห็นหัวใจดวงน้อยของลูกเต้นในมดลูกแม่สุนัข
2. ประเมินภาวะคลอดยาก เจ้าของสามารถพาสุนัขมาเอ็กสเรย์ช่องท้องตั้งแต่ที่อายุ 45 วันจะเริ่มเห็นโครงกระดูกลูกสุนัข แต่หากจะประเมินภาวะคลอดยาก ควรรอจนอายุครรภ์ประมาณ 55 วันเป็นต้นไป เพื่อให้ขนาดลูกสุนัขโตอย่างเต็มที่ โดยสัตวแพทย์จะประเมินด้วยการวัดขนาดศีรษะของลูกเทียบกับเชิงกรานของแม่สุนัข หากพบว่ามีแนวโน้มคลอดยากหรือขนาดไม่สมส่วน สัตวแพทย์จะแนะนำให้นัดวันครบกำหนดคลอดเพื่อผ่าตัดช่วยลูกสุนัข
3. เครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยในการวินิจฉัยได้ คือ เครื่องอัลตร้าซาวน์ช่วยวินิจฉัยว่าลูกสุนัขยังมีชีวิตหรือไม่ โดยการดูการเต้นของหัวใจ ดูความแข็งแรงของลูกสุนัข สภาพมดลูกของแม่สุนัข รวมถึงพยากรณ์วันคลอด วันตั้งท้องของแม่ แต่จะบอกจำนวนลูกสุนัขได้คล่าว ๆ ส่วนเครื่องเอ็กสเรย์ จะช่วยบอกจำนวนลูกสุนัขได้แม่นยำกว่าอัลตร้าซาวน์ แต่จะไม่สามารถบอกได้ว่าลูกสุนัขยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ยกเว้นแต่ลูกที่ตายมานาน แล้วมีแก๊สสะสมในมดลูก การวินิจฉัยอย่างอื่น ๆ คือการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ ตั้งครรภ์ และวันคลอดใช้ประกอบกันได้
4. เมื่อแม่สุนัขใกล้คลอด จะมีการแสดงอาการ 3 ระยะ โดยสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้
ระยะหาที่คลอด สุนัขจะทานอาหารลดลง เริ่มเก็บตัว หรืออยู่ที่มืด เจ้าของสามารถช่วยเตรียมรังคลอดในที่สงบให้แม่สุนัขได้ และพยายามไม่ทำให้แม่สุนัขเครียด หรือรบกวนสุนัข สุนัขจะแสดงอาการนี้ประมาณ 12-48 ชั่วโมงก่อนคลอด
ระยะเบ่งคลอด ให้เจ้าของสังเกตน้ำที่ไหลออกจากอวัยวะเพศ หากเริ่มมีน้ำคร่ำแตกออกมา แม่สุนัขจะเบ่งคลอดลูกตัวแรกออกมาภายใน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หากเกินระยะเวลา 2-4 ชั่วโมง มีแนวโน้มว่าแม่สุนัขกำลังประสบปัญหาการคลอด ระยะห่างการคลอดของลูกสุนัขตัวถัดไปปกติจะไม่เกินตัวละ 20-40 นาที หากเกิน 1 ชั่วโมง แม่สุนัขอาจมีปัญหาคลอดยาก ซึ่งแนะนำว่าให้รีบพาแม่สุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุการคลอดยาก เพื่อดำเนินการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ระยะขับรก เป็นระยะที่มีการขับรกและน้ำคล่ำที่ค้างในมดลูกหลังการคลอด โดยปกติแม่สุนัขอาจเลียหรือรับประทานเข้าไป พร้อมกับการเลียตัวทำความสะอาดลูกสุนัข
โดยสรุปแล้ว ภาวะคลอดยากมักพบในแม่สุนัขที่ตัวเล็ก ผสมกับพ่อสุนัขขนาดใหญ่ แต่สามเคสที่ยกตัวอย่างข้างต้นมาเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิสุ ชิวาว่า มอลทีส เป็นต้น ส่วนระยะการคลอดที่เป็นระยะวิกฤติคือ ระยะเบ่งคลอด เป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่เพื่อการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ แนะนำให้พาแม่สุนัขไปตรวจสุขภาพก่อนการคลอดตามที่กล่าวมาข้างต้นได้ที่ โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท ทุกสาขา โดยทีมสัตวแพทย์ผู้เชียวชาญ และเครื่องมือที่พร้อมเพียง


เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ สุพัตรา จันทร์โฉม