“หางหัก ไม่ตัดหางได้มั้ยครับหมอ”
0 Vote 10351 Views
ข้อมูลสัตว์ป่วย

มะขามเก้าแสน สุนัขพันธุ์ผสมไทยหลังอาน เพศผู้ อายุประมาณ 5 เดือน ทำวัคซีนครบถ้วน เจ้าของพามาด้วยอาหารหางตก ยกหากไม่ขึ้น เพิ่งเห็นว่าหางบวมมาเป็นเวลา 1 วัน

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

มะข้ามเก้าแสน เป็นสุนัขวัยหนุ่ม ปราดเปรียว โดยรวมทั่วไปยังร่าเริงและตอบสนองได้ดี ยกเว้นแต่บริเวณโคนหางบวม หางตก เมื่อจับคลำที่หางแสดงอาการเจ็บมาก จากนั้นจึงพาสุนัขไปเอ็กสเรย์ที่กระดูกส่วนหาง พบว่า กระดูกหางท่อนที่ 5-6-7 ผิดรูป และหักในท่อนที่ 7 เนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกหางมีอาการบวมอักเสบ จึงคาดว่าอาจเกิดอุบัติเหตุที่หางเช่น โดนกัด โดนทับ โดยเหยียบ นอกนั้นนี้ยังบังเอิญพบลักษณะขนคุดม้วนลงใต้ผิวหนัง 3 ตำแหน่ง เป็นลักษณะเฉพาะที่พบได้ในสุนัขที่มีลักษณะหลังอาน เรียกว่า Dermoid cysts

การรักษา

สัตวแพทย์แนะแนวทางการรักษาไว้ 2 ทางเลือกคือ 1. รับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบ และความเจ็บปวด เพื่อบรรอาการหางตก ยกไม่ขึ้น 2. พิจารณาผ่าตัดโดยการตัดหางท่อนที่หักออก ร่วมกับการทานยาลดปวด ลดอักเสบ ในครั้งแรกเจ้าของยังไม่อยากให้สุนัขผ่าตัด จึงอยากใช้วิธีการป้อนยาลดปวดก่อน และพันเฝือกประคองรอบโคนหาง จากนั้น 1 สัปดาห์นัดกลับมาตรวจอาการซ้ำ เจ้าของแจ้งว่าช่วง 3-4 วันแรกที่ได้รับยามีอการดีขึ้น ใช้หางได้ แต่สุนัขกัดเอาเฝือกออกตั้งแต่วันแรกแล้ว จึงไม่ได้พันประคองหางต่อ หลังจากหยุดยา กลับมามีอาการเดิมซ้ำ จึงตัดสินใจร่วมกันกับสัตวแพทย์ว่า ในครั้งนี้หางกลับมาบวมอักเสบ จะพิจารณาผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยการตัดหาง เพราะสุนัขดูเจ็บมาก ไม่สามารถพันเฝือกที่หางได้ด้วย สุนัขค่อนข้างปราดเปรียวเฝือกจึงหลุดตลอดเวลา พร้อมกันนั้น ให้ทำการผ่าตัดทำหมัน และแก้ไขปัญหาก้อนขนคุด (Dermoid cyst) ด้วยเลยทีเดียว
ก่อนจะผ่าตัด สัตวแพทย์จึงเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงในการวางยาสลบ ปรากฏว่า มะขามเก้าแสนมีการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดแทรกซ้อน และพบเกร็ดเลือดต่ำเล็กน้อยส่วนผลเลือดอื่น ๆ ทั่วไปอยู่เกณฑ์ปกติ ทีมสัตวแพทย์จึงวางแผนรักษาพยาธิเม็ดเลือดก่อนประมาณ 3-5 วัน เพื่อให้ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อพยาธิเม็ดเลือด แล้วพิจารณาผ่าตัดกระดูกหาง ก้อนขนคุด และทำหมันตัวผู้ในเวลาต่อมา
การผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีอาการทางระบบใดใดแทรกซ้อน สัตวแพทย์ให้การรักษาแผลผ่าตัด ยาลดอักเสบ ลดปวด ร่วมกับยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดหลังผ่าตัดอย่างเนื่อง มะขามเก้าแสนกลับมาเพื่อตัดไหมในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด ด้วยอาการร่าเริง แผลผ่าตัดปิดสนิทหายดี จึงเริ่มหยุดยาลดปวด ลดอักเสบ และให้การรักษาพยาธิเม็ดเลือดต่อเนื่องจนครบเวลา 1 เดือน

เกร็ดความรู้

หางนับเป็นอวัยวะที่เป็นระยางค์ ที่เชื่อมต่อกับแกนกลางของร่างกายโดยตรง ประกอบด้วยกระดูกสันหลัง เส้นประสาทส่วนปลาย หลอดเลือดและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ความยาวและจำนวนชิ้นกระดูกของหางขึ้นกับสายพันธุ์ ในสุนัขและแมว หางเป็นอวัยวะที่ใช้เพื่อแสดงอารมณ์ หรือสื่อสารในการจัดลำดับทางฝูง แต่อาจไม่ใช่อวัยวะที่สำคัญในการดำรงชีวิตของสุนัขและแมว ในหลาย ๆ ครั้งที่พบว่าสุนัขหรือแมวประสบอุบัติเหตุที่หางจนกระดูกหางหัก หรือใช้งานไม่ได้เนื่องจากมีการกระทบกระเทือนถึงเส้นประสาท บางรายอาจเริ่มมีปัญหาควบคุมการขับถ่ายผิดปกติตามมา
แนวทางในการรักษาสัตว์ที่มีปัญหากระดูกหางหัก ขึ้นอยู่กับสภาพโดยทั่วไปของหาง เช่น เป็นแผลเปิด กระดูกทะลุ มีการติดเชื้ออักเสบรุนแรง มีหนองและเลือดออกมามาก ในกรณีนี้จะแนะนำให้ตัดหาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนลามเข้าส่วนกลางของร่างกาย ยังมีการผ่าตัดแบบที่ไม่ตัดหาง พบรายงานในม้า เป็นการรักษาด้วยการใส่วัสดุยึดจำพวกสกรูและเพลท เพราะกระดูกหางของม้าเป็นชิ้นใหญ่พอที่จะใส่วัสดุยึด ซึ่งทั้งนี้ต้องการดูแลอย่างดีมาก สามารถควบคุมบาดแผลได้ง่ายกว่าสุนัขและแมว การผ่าตัดโดยใช้วัสดุยึดในสุนัขและแมวไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากขนาดของกระดูกหางค่อนข้างเล็กมาก วัสดุราคาแพง ควบคุมพฤติกรรมของสุนัขและแมวไม่ให้เลียได้ยาก และเป็นอวัยวะที่ไม่ค่อยส่งผลต่อการดำรงชีพ หากอยากเก็บหางไว้เพื่อความสวยงาม อาจพิจารณาผ่าตัดใช้วัสดุยึดพิจารณาเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ต้องไม่มีบาดแผลที่ดูมีแนวโน้มจะติดเชื้อ จึงจะพิจารณาซ่อมได้ การรักษาทางเลือกอื่นชนิดไม่ผ่าตัด คือการให้รับประทานยาลดปวด เหมาะสำหรับกรณีที่เป็นอุบัติเหตุจากแรงกระทบกระแทกภายนอกและไม่มีบาดแผลเปิด ไม่มีหนองหรือเลือดคั่ง อาจมีการพันเฝือก เพื่อให้ประคับประคองส่วนหักของกระดูกหาง รอวันที่จะมีการพอกของกระดูก แต่อย่างที่กล่าวเบื้องต้น เพราะพฤติกรรมของสุนัขและแมวมักจะไม่อยู่นิ่ง ยิ่งมีอะไรมาพันที่ด้านท้ายลำตัว ไม่วายที่แทะ แกะ หรือแม้แต่กินวัสดุพวกนั้นเข้าไปในร่างกายจนเกิดเป็นลำไส้อุดตันตามมาอีกโรค
เรื่องของหาง จึงเป็นการตัดสินใจหลายองค์ประกอบร่วมกัน คือ การใช้งาน ความเจ็บปวด และความสวยงาม การรักษาจึงต้องเป็นการตกลงเข้าใจร่วมกันกับเจ้าของและสัตวแพทย์ เพื่อให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ปกติสุข

เรื่องและภาพโดย
สพญ สุพัตรา จันทร์โฉม
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา