น้องหนูดีปวดท้องจึงร้องหาคุณหมอ
0 Vote 9464 Views
น้องหนูดีปวดท้องจึงร้องหาคุณหมอ
6 มี.ค. 2559
ข้อมูลสัตว์ป่วย

เด็กน้อยหนูดี เป็นลูกสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล วัย 3 เดือน เพิ่งทำวัคซีนรวมมาได้เพียง 1 เข็มเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เจ้าของพบว่าน้องหนูดีมีอาการอาเจียนเป็นฟองตอนกลางคืน และตอนเช้า ก่อนหน้าทานอาหารได้เป็นปกติดี ไม่ได้เปลี่ยนชนิดอาหาร

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

น้องหนูดีมีอาการปวดเกร็งช่องท้องส่วนกลาง ซึมและมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย เมื่อสัตวแพทย์คลำช่องท้องพบก้อนกึ่งนิ่มกึ่งแข็งขนาดประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร เนื่องจากน้องหนูดีได้รับวัคซีนรวมมาเพียง 1 เข็ม จึงได้ตรวจชุดตรวจต่อโรคไวรัสลำไส้อักเสบเพิ่ม แต่ได้เป็นผลลบ ซึ่งหมายถึงน้องหนูดีไม่มีปัญหาที่เกิดจากเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร สัตวแพทย์จึงพาน้องหนูดีไปเอ็กสเรย์บริเวณช่องท้องพบก้อนวัตถุมีความทึบรังรังสีอยู่ในลำไส้เล็ก จึงทำการตรวจด้วยอัลตร้าซาวน์เพิ่มเติม พบเป็นวัตถุแข็งในลำไส้ขนาดประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร จึงสงสัยว่าน้องหนูดีมีวัตถุแปลกปลอมอยู่ภายในลำไส้ ทำให้เกิดการอุดตันและอาการปวดท้อง หนูดีจึงถูกเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยต่อที่หน่วยสัตว์ป่วยใน
แผนการวินิจฉัยต่อคือการให้ป้อนแป้งแบเรี่ยม (Barium) เพื่อดูว่าสิ่งแปลกปลอมนั้นอุดตันในลำไส้โดยสมบูรณ์หรือไม่ ก่อนป้อนแป้งจึงงดอาหารน้องหนูดี หลังจากที่ป้อนแป้งและทำการเอ็กสเรย์ตามระยะเวลา จนกระทั่งชั่วโมงที่ 14 พบว่าก้อนแปลกปลอมเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมไปอยู่ทางด้านท้ายของลำไส้ใหญ่ พร้อมกันกับแป้งแบเรี่ยมกำลังถูกขับออกหมดทั้งลำไส้

การรักษา

ช่วงระหว่างที่เข้ารับการรักษาในหน่วยสัตว์ป่วยใน น้องหนูดีได้รับน้ำเกลือที่มีน้ำตาลเข้าทางหลอดเลือด รวมถึงได้รับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาลดอาการปวด ยาลดอาการอาเจียน
หลังจากที่พบว่าก้อนวัตถุเคลื่อนมาอยู่ด้านท้ายของลำไส้ใหญ่ สัตวแพทย์จึงสวนล้วงวัตถุนั้นออกมาพบว่าเป็น ก้อนขนพันอยู่กับเศษชิ้นส่วนของกระดุมสีขาว หลังจากที่สวนล้วงกระดุมออกมาได้ น้องหนูดีมีอาการดีขึ้น เริ่มทานอาหารอ่อนได้ดี และไม่พบอาการอาเจียนอีก น้องหนูดีจึงได้รับการดูแลต่อที่บ้าน เฝ้าระวังภาวะการอักเสบของทางเดินอาหารเนื่องจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจมีการบาดทางเดินอาหารบางส่วน
หลังจากนั้น 3 วัน น้องหนูดีได้รับการตรวจร่างกายซ้ำ หนูดีกลับมาร่าเริง ทานอาหารและขับถ่ายได้ปกติ จึงนัดมาทำวัคซีนซ้ำตามโปรแกรม


ข้อแนะนำ

พฤติกรรมของลูกสุนัข มักจะชอบแทะ กัดเคี้ยวของอยู่ใกล้ ๆ หรืออาจกลืนเข้าไปได้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือวัตถุบางประเภทอาจแหลมคมทำให้เกิดบาดแผลของทางเดินอาหาร หรืออาจพบรูรั่วทะลุทางเดินอาหารได้
การวินิจฉัยว่ามีการอุดตันของลำไส้เนื่องจากการทานสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปจะใช้เครื่องมือวินิจฉัยอย่างง่ายคือการเอ็กสเรย์ แต่วัตถุแปลกปลอมบางประเภทไม่อาจมองเห็นได้จากการเอ็กสเรย์ธรรมดาในครั้งแรก เช่น เส้นเชือก เส้นผม เศษผ้า หรือไม้ จึงทำให้ต้องใช้การวินิจฉัยอย่างอื่นเพิ่มเติมเช่น การอัลตร้าซาวนด์ หรือส่องกล้องในทางเดินอาหาร ซึ่งต้องทำให้ภาวะที่สัตว์ถูกวางยาสลบเท่านั้น
วิธีการรักษากรณีมีสิ่งอุดตันในทางเดินอาหาร ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด และตำแหน่งของวัตถุแปลกปลอมนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ลำไส้บีบตัวและขับออกมาพร้อมกับอุจจาระเอง, การส่องกล้องคีบสิ่งแปลกปลอม หรือการผ่าตัด ทั้งนี้แต่ละวิธีการขึ้นกับความรุนแรงของโรคประกอบกันด้วย
ฉะนั้น หากพบว่าสัตว์เลี้ยงมักมีพฤติกรรมกัดแทะ เจ้าของควรจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม หมั่นสังเกตุอาการของสัตว์เลี้ยง รวมถึงสำรวจของใช้ภายในบ้านว่ามีรอยกัด แทะ หรือของชิ้นเล็กหายไปหรือไม่ อย่างสม่ำเสมอ

เรื่องและภาพโดย
สพญ สุพัตรา จันทร์โฉม