“เด็กชายจูเนียร์ ผู้รอดชีวิตจากลำไส้อักเสบ”
0 Vote 11592 Views
ประวัติและข้อมูลสัตว์ป่วย

ชื่อ: จูเนียร์ ชนิด: สุนัข เพศ: ชาย อายุ: 4 เดือน พันธุ์: ไซบีเรียนฮัสกี้ เด็กชายจูเนียร์เป็นลูกสุนัขเกิดที่บ้านเอง ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข และลำไส้อักเสบครบตามโปรแกรมวัคซีน เริ่มมีอาการซึม ไม่ทานอาหาร วันถัดมาพบมีถ่ายเหลวเป็นน้ำเลือด และอาเจียน

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

จูเนียร์มีอาการซึมมาก ไม่มีไข้ แต่มีเลือดสดติดปรอทออกมาด้วย มีภาวะแห้งน้ำเล็กน้อย ผลตรวจอุจจาระพบเชื้อแบคทีเรีย ตรวจชุดตรวจลำไส้อักเสบให้ผลบวกกับเชื้อลำไส้อักเสบพาโวไวรัส ตรวจโลหิตวิทยา พบภาวะโลหิตจาง ค่าเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติค่อนต่ำบ่งบอกถึงร่างกายมีการติดเชื้อไวรัสรุนแรง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำมาก

การรักษา

อาการของน้องจูเนียร์ทรุดและซึมเศร้ามาก สัตวแพทย์จึงพิจารณารับน้องเข้ารับการรักษาในหน่วยสัตวป่วยในไว้เพื่อให้สารน้ำ สารอาหาร ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทเรียแทรกซ้อน เข้าทางเส้นเลือด รวมถึงมีการฉีดยากระตุ้นภูมิคุ้มกันควบคู่ไปด้วย น้องจูเนียร์ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีมาก จากในช่วง 2 วันแรก ถ่ายเป็นเลือดสด ปริมาณเยอะมาก ความถี่ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน อาเจียนถี่แม้จะกินหรือไม่กินอาหาร ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการรักษามีการป้อนอาหารสัตว์ป่วยอยู่สม่ำเสมอ แต่ให้ในปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง วันคืนผ่านไป ร่างกายน้องจูเนียร์เริ่มฟื้นฟูได้เอง ภูมิต้านทานในร่างกายเริ่มแข็งแกร่งขึ้น ประจวบกันกับยาและสารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือด ส่งผลให้พบการขับถ่ายที่ดีขึ้น ลักษณะอุจจาระเริ่มเป็นเนื้อผสมน้ำ และหยุดถ่ายเหลวในวันที่ 5 ของการรักษา อาเจียนเริ่มเหลือวันละ 1 ครั้ง และไม่พบอาเจียนอีก ในวันที่ 7 ของการรักษา น้องจูเนียร์ทานอาหารได้เอง มีความอยากทานอาหารมาก แต่ยังจำกัดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อเพื่อป้องกันการทานเร็วแล้วสำรอกออกมา เมื่อระงับอาการอาเจียนได้จึงปรับเป็นยาทานทั้งหมด จนกระทั่งสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

ข้อคิดจากสัตวแพทย์

การฉีดวัคซีนไวรัสลำไส้อักเสบในสุนัข มีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เช่น ชนิดวัคซีน การให้วัคซีน ระยะเวลาที่ให้วัคซีน พื้นที่มีความชุกของโรคสูง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำวัคซีนหวังผลเพื่อให้การแสดงความรุนแรงของโรคนั้นลดลงได้ถ้าเทียบกับสัตว์ที่ไม่เคยได้วัคซีนมาก่อนแล้วติดเชื้อไวรัสในร่างกาย เนื่องจากร่างกายได้มีการสร้างภูมิต้านทานที่จะไปต่อสู้กับเชื้อโรคแล้ว ดังนั้นในรายของจูเนียร์ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนมาครบตามกำหนดแล้ว ติดโรคไวรัสลำไส้อักเสบ แต่อาการที่เป็นอาจไม่แย่เท่าสุนัขที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ประกอบกับเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย ก็ทำให้การตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการติดเชื้อ วิธีการที่โรคแพร่ระบาดได้ โดยตรงคือการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากน้ำลาย อาเจียน อุจจาระของสุนัขที่ป่วยติดเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบมาก่อน ดังนั้นการปล่อยสัตว์ออกไปขับถ่ายนอกบ้าน หรือเจ้าของไปสัมผัสเชื้อจากสุนัขนอกบ้าน เหยียบสิ่งขับถ่ายของสุนัขที่เป็นโรคนอกบ้าน ก็สามารถที่จะนำเชื้อเข้ามาสู่สุนัขในบ้านเองได้ และเนื่องจากตัวเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมได้ระยะยาว จึงอาจจะยังเหลือแหล่งแพร่พันธุ์ของโรคได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่เคยมีเชื้อเหล่านี้หลงเหลืออยู่ตามธรรมชาติที่สุนัขป่วยไปอาศัยและขับถ่ายทิ้งไว้


เรื่องและภาพโดย
โดย สพ.ญ. นฎา ธนะมัย
เรียบเรียงและแก้ไขโดย
สพ.ญ สุพัตรา จันทร์โฉม