โรคหัวบาตร (Hydrocephalus) ในสุนัข
0 Vote 10331 Views

คือ อาการที่มีปริมาณน้ำเลี้ยงสมองมากเกิน จนไปเบียดทำลายเนื้อสมอง ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทตามมา
โดยอาจเป็นความผิดปกติตั้งแต่เกิด มักพบบ่อยในสุนัขพันธุ์ Chihuahuas และพบได้ในพันธุ์อื่นๆเช่น Toy Poodles, Lhasa Apsos, Pugs, Pomeranians, Pekingese, Maltese, Shih-Tzus, Bulldogs, Boston Terriers, Yorkshire Terriers, Manchester Terriers and Cairn Terriers
หรือเกิดตามมาจากความผิดปกติบางอย่างเช่น
1. การบกพร่องหรืออุดตันของระบบไหลเวียนน้ำเลี้ยงในสมอง
2. การที่เนื้อสมองเสียหายไปจนสุดท้ายมีน้ำเข้ามาแทนที่
อาการที่อาจพบเจอได้จากโรคนี้
- หัวโตเป็นรูปโดม ขนาดโตขึ้นอย่างผิดปกติ
- พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูซึมลง หรืออาจดุร้ายขึ้น ดูมึนงง เดินไร้จุดหมาย ร้องโวยวาย เดินวน
- ชัก
- แคระเกร็น
- ยืน เดิน ผิดปกติ
- หายใจผิดปกติ
- มองไม่เห็น เดินหลบสิ่งกีดขวางไม่ได้

การตรวจวินิจฉัย

- จากการตรวจร่างกายพื้นฐานอาจพบลักษณะหัวที่โตผิดปกติ หรือกระโหลกมีลักษณะนิ่มผิดปกติ
- การใช้รังสีวินิจฉัย เช่น X-ray Ultrasound CT scan หรือ MRI

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่นการให้ยาเพื่อลดการสร้างน้ำเลี้ยงสมอง หรือเร่งการขับน้ำออกจากร่างกาย หรือการให้ยาอื่นๆเพื่อ ควบคุมอาการอื่นๆที่อาจตามมา

ตัวอย่างเคส

สุนัขพันธุ์ชิวาว่า เพศผู้ อายุ 1 เดือน มีขนาดตัวที่ค่อนข้างเล็ก มีน้ำหนักตัวไม่สอดคล้องกับอายุ (แคระเกร็น) เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ สาขา เอ็กซ์ตร้า

มีปัญหาโตช้าและค่อนข้างอ่อนแอมาโดยตลอด จนวันนึงสังเกตว่าหัวของน้องมีลักษณะบวมโตขึ้นเป็นลักษณะคล้ายโดมอย่างผิดปกติจนขนาดหัวไม่สมส่วนกับขนาดตัว โดยในขณะที่หัวโตขึ้นเรื่อยๆ น้องมีก็ได้แสดงอาการผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดินแล้วล้ม ลุกไม่ค่อยขึ้น ทรงตัวยื่นไม่ได้ รวมถึงดูซึมลงผิดจากก่อนหน้านี้
คุณหมอจึงตั้งข้อสงสัยว่าน้องอาจจะมีภาวะน้ำในสมองมากเกินไปจนไปกดเบียดเนื้อสมองหรือที่เรียกว่า โรคหัวบาตร (Hydrocephalus) แต่กำเนิด จึงได้ทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการ Ultrasound จึงพบลักษณะการขยายขนาดขึ้นอย่างผิดปกติของช่องว่างในสมอง ดังภาพ

ซึ่งเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับโรคหัวบาตร
คุณหมอจึงให้การรักษาโดยการให้ยาลดอักเสบเพื่อลดการสร้างน้ำเลี้ยงสมอง และให้ยาขับน้ำเพื่อขับน้ำออกจากร่างกาย
โดยในกรณีของโรคนี้ยังไม่มีการรักษาที่ประสบผลสำเร็จนัก จึงเป็นการรักษาตามอาการ และพยายามควบคุมไม่ให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจนทำลายสมองให้เสียหายเพิ่มอีก