สัตว์เลี้ยงเป็นโรคไตได้ด้วยหรือ?
0 Vote 7919 Views
หลายคนคงจะสงสัย ว่า สัตว์เลี้ยงเป็นโรคไตได้ด้วยหรือ?

ไตทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด รักษาสมดุลของสารน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย รวมถึงทำหน้าที่คล้ายต่อมไร้ท่อ ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมความดันเลือด และสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย สัตว์มีไตสองข้างเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไตเล็กๆ นับเป็นแสนๆ หน่วย เมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น หน่วยไตจะค่อยๆ เสื่อมและลดปริมาณลง หน่วยไตที่เสียหายแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ ส่วนที่ยังเหลืออยู่จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยหน่วยไตที่เสียไปแล้ว โดยปกติแล้วหากหน่วยไตเสียหายไม่เกิน 75% ไตส่วนที่เหลือยังสามารถทำงานชดเชยได้ ทำให้ระดับของครีเอตินีน (Creatinine) และยูเรีย (Urea) ในเลือด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกการทำงานของไต ยังไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่อหน่วยไตเกิดความเสียหายเกิน 75% แล้ว จึงเกิดภาวะไตวายขึ้น เมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะก็จะพบความผิดปกติ
โรคไตอาจเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน เช่น อายุมาก อาหาร พันธุ์สัตว์ที่มีแนวโน้มการเกิดความผิดปกติของไตตั้งแต่กำเนิด เช่น ชิสุ ชเนาส์เซอร์ รวมถึงพฤติกรรมตัวสัตว์เองที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น กินน้ำน้อย หรือชอบเลียกินน้ำไม่เลือกที่ เช่น ตามพื้นที่มีสารเคมี น้ำในกระถาง ต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย หรืออาศัยในบริเวณที่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารที่เป็นพิษต่อไต เป็นต้น

ภาวะของโรคไตอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกันคือ

ระยะที่ 1. ภาวะที่ไตเสียหายมากกว่า 67% ระยะนี้เราจะเรียกสัตว์ว่าเป็นโรคไต แต่ยังไม่ถือว่าเป็นไตวายเรื้อรัง สัตว์จะไม่แสดงความผิดปกติใดๆ อาจแสดงอาการกินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ ชอบปัสสาวะตอนกลางคืน การตรวจเช็คเลือดค่าครีเอตินีน (Creatinine) และยูเรีย (Urea) จะไม่พบความผิดปกติ แต่หากทำการตรวจปัสสาวะจะพบว่า ความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าปกติ รวมทั้งมักตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงมีอายุมากกว่า 6 ปี จึงควรตรวจปัสสาวะร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย หากพบว่าสัตว์อยู่ในระยะนี้เราสามารถช่วยชะลอความเสียหายของไตให้ช้าลงได้ ด้วยการให้อาหารที่มีการจำกัดโปรตีนและฟอสฟอรัส ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบของอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์อายุ มาก เช่น อาหารโรคไต หรืออาหารโรคหัวใจ เป็นต้น

ระยะที่ 2. ภาวะที่ไตเสียหายมากกว่า 75% ระยะนี้จึงเรียกว่าเป็นไตวายเรื้อรัง สัตว์บางตัวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นชัดเจน แต่หากตรวจเลือดวัดระดับการทำงานของไตครีเอตินีน (Creatinine) และ ระดับยูเรีย (Urea) ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณของเสียที่มีอยู่ในเลือด พร้อมกับตรวจปัสสาวะจะพบความผิดปกติ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับความสามารถของไตในการขับเอาของเสียออก หากเกิดการคั่งในเลือดจนเกินระดับความทนทานของสัตว์ สัตว์จะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด อาเจียน และมีถ่ายเหลว

ระยะที่ 3. ระยะสุดท้าย อาการจะรุนแรงมากขึ้น อาเจียนบ่อยครั้ง ถ่ายเหลวดำคล้ำ กลิ่นปากจะคล้ายกับกลิ่นของปัสสาวะ มีแผลหลุมในปาก กินอาหารไม่ได้ หมดแรง บางตัวหากเกิดการคั่งของของเสียในเลือดมากๆ จะเกิดอาการชัก ทุรนทุราย หมดสติ และ เสียชีวิตในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจาง ภาวะกระดูกพรุน ภาวะของเสียคั่งในเลือด


บทความดีๆจาก สัตวแพทย์หญิงอาภาพร เจตนาวณิชย์ (คุณหมอพร)
โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา
ติดต่อสอบถาม
Fanpage : petfriendsHospital
โทร 038-773007 / 089-2448865
Fax : 038-773339
IG : Petfriends_sriracha
Line@ : @petfriends
E-mail : [email protected]
ติดต่อเรา 1/16 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110