มดลูกอักเสบ อันตรายจากยาคุม
0 Vote 13803 Views

มดลูกอักเสบเป็นหนองเป็นโรคทางระบบสืบพันธุ์โรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในสุนัขยังไม่ได้ทำหมัน สาเหตุเกิดจากภาวะของมดลูกที่ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงหลังการเป็นสัด หรือจากฮอร์โมนที่ใช้คุมกำเนิดเป็นระยะก่อให้เกิดความผิดปกติของผนังมดลูก และเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา

สาเหตุ เกิดจาก

1. การผสมพันธุ์

2. การสอดท่อผสมเทียม

3. การได้รับฮอร์โมนชนิดต่างๆ เช่น โปรเจสเตอโรน หรือเอสโตรเจน เพื่อใช้ในการคุมกำเนิด

4. เมื่อสุนัขอายุมากขึ้น มดลูกมักจะอ่อนแอ ทำให้เป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

อาการทั่วไปที่พบได้คือ

สัตว์จะมีอาการซึม เบื่ออาหาร กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิร่างกายอาจปกติหรือมีไข้ อาจพบสิ่งคัดหลั่งไหลออกจากช่องคลอด ลักษณะของสิ่งคัดหลั่งอาจจะเป็นหนอง หรือมีเลือดปนก็ได้ ซึ่งจะพบได้ในรายมดลูกอักเสบแบบปากมดลูกเปิด (รูปที่ 1) ส่วนมดลูกอักเสบแบบปากมดลูกปิดจะไม่พบสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาจากช่องคลอด แต่จะเห็นช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เกิดภาวะ shock และเสียชีวิตได้

รูปที่ 1 แสดงสิ่งคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอดในสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบแบบปากมดลูกเปิด

การวินิจฉัย จาก

1. ประวิติ สุนัขตัวเมีย อายุ 6 ปีขึ้นไป ยังไม่ได้ทำหมัน ส่วนสุนัขที่ทำหมันแล้วอาจเกิด uterine stumped pyometra ได้ถ้ามีการติดเชื้อบริเวณมดลูกที่เหลืออยู่ สุนัขทุกพันธุ์มีโอกาสเกิดเท่ากัน และมักเกิดภายใน 1-12 สัปดาห์หลังเป็นสัด

2. อาการ ดังที่ได้กล่าวมา

3. จากผลตรวจอื่นๆ ได้แก่
3.1 การตรวจเลือด จะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ โดยในสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบเป็นหนองแบบปากมดลูกปิดจะมีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าแบบปากมดลูกเปิด อาจพบภาวะโลหิตจาง ระดับเอนไซม์ Blood urea nitrogen creatinine alkaline phosphatase หรือ alanine aminotransferase อาจปกติหรือสูงกว่าปกติได้ และอาจพบโปรตีนในเลือดสูงขึ้นได้จากภาวะแห้งน้ำ

3.2 การตรวจปัสสาวะ

รูปที่ 2 แสดงลักษณะของเซลล์เยื่อบุช่องคลอด เม็ดเลือดขาวและแบคทีเรียที่พบในสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบ

3.3 การตรวจเซลล์เยื่อบุช่องคลอด (รูปที่ 2) แต่อาจแยกกับภาวะช่องคลอดอักเสบ (vaginitis) ไม่ได้ อาจต้องใช้การวินิจฉัยอื่นๆเพิ่มเติม

3.4 การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (รูปที่ 3) มักพบว่ามดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และลำไส้จะถูกดันไปด้านหน้ามากขึ้น

รูปที่ 3 แสดงภายถ่ายทางรังสีในสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบเป็นหนอง

3.5 การตรวจอัลตราซาวด์ (รูปที่ 4) มักพบว่ามดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น มีของเหลวอยู่ภายในมดลูก อาจเห็นลักษณะของ cyst ที่ผนังมดลูกได้ ถ้ามีภาวะมดลูกฉีกขาด อาจพบของเหลวในช่องท้องได้

รูปที่ 4 แสดงภาพอัลตราซาวด์ในสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบเป็นหนอง

การรักษามีอยู่ 2 แบบ คือ การรักษาทางศัลยกรรมและทางอายุรกรรม

ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพพื้นฐานของอาการทางคลินิกของสัตว์ป่วย และความตั้งใจของเจ้าของในการที่จะเก็บสัตว์ไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

1. การรักษาทางศัลยกรรม โดยการผ่าตัดทำหมันเอารังไข่และมดลูกออก (Ovariohysterectomy) (รูปที่ 5) ซึ่งถือว่าเป็นวิธีในการรักษาที่ดีที่สุด การยืดระยะเวลาในการผ่าตัดออกไปเพียงเพื่อรักษาพยุงอาการและปรับสภาพสัตว์ให้พร้อมก่อนการผ่าตัด ซึ่งจะกระทำกันในระยะสั้นเท่านั้น

รูปที่ 5 แสดงลักษณะมดลูกมีการขยายใหญ่ในสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบเป็นหนอง

2. การรักษาทางอายุรกรรม
การใช้ฮอร์โมน รักษาสุนัขที่เป็นมดลูกอักเสบเป็นหนองจะใช้กรณีที่เป็นแบบปากมดลูกเปิดเท่านั้น และควรใช้ในสุนัขแม่พันธุ์ที่มีค่าสูงที่เจ้าของยังอยากได้ลูกจากแม่พันธุ์นี้หรือใช้ในรายที่สุนัขไม่สามารถรับการผ่าตัดได้เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจากการวางยาสลบ

การพยากรณ์โรค

หากสัตว์ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันเวลา มักจะมีโอกาสที่จะมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งหายเป็นปกติดี ซึ่งทั้งนี้จะต้องอาศัยความเอาใจใส่ดูแลของเจ้าของสัตว์ในการสังเกตพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ และความชำนาญของสัตวแพทย์ที่ทำการตรวจรักษา

มดลูกอักเสบเป็นหนองเป็นโรคทางระบบสืบพันธุ์โรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในสุนัข และเป็นโรคที่สามารถทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากสัตว์ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะสามารถทำให้สัตว์หายจากการเป็นโรคได้ หากพบว่าสุนัขของท่านมีอาการผิดปกติดังที่ได้กล่าวมา เจ้าของควรนำสุนัขของท่านมารับการตรวจจากสัตวแพทย์โดยเร็ว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขา หรือโทร 02-1968244-6


เรียบเรียงโดย สพ.ญ. สสิตา สุวันทารัตน์

เอกสารอ้างอิง
เกษกนก ศิรินฤมิตร. มดลูกอักเสบเป็นหนอง. ใน วิทยาระบบสืบพันธุ์สุนัขเพศเมีย. 121-130. พิมพ์ครั้งที่ 1. ปทุมธานี: ห้างหุ้นส่วนจำกัด โปรพริ้นท์ พรีเพรส. 2548.

นงเยาว์ สุวรรณธาดา. โรคในระบบสืบพันธุ์เพศเมียสุนัขและแมว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:  http://vet.kku.ac.th/medicine/medicine/academic/handout/%E2%C3%A4%E3%B9%C3%D0%BA%BA%CA%D7%BA%BE%D1%B9%B8%D8%EC%CA%D8%B9%D1%A2/%E2%C3%A4%E3%B9%C3%D0%BA%BA%CA%D7%BA%BE%D1%B9%B8%EC.pdf. 2544.

Hamm, Brian L. Surgical and medical treatment of pyometra. [Online].  Available: http://veterinarymedicine.dvm360.com/vetmed/Medicine/Canine-pyometra-Early-recognition-and-diagnosis/ArticleStandard/Article/detail/773928. 2012.

Hamm, Brian L. Canine pyometra: Early recognition and diagnosis. [Online].  Available: http://veterinarymedicine.dvm360.com/vetmed/Medicine/Surgical-and-medical-treatment-of-pyometra/ArticleStandard/Article/detail/773936. 2012.

“Pyometra”. American college of veterinary surgeons. [Online].  Available: https://www.acvs.org/small-animal/pyometra.