ลูกหมาขี้ตกใจ แก้อย่างไร?
1 Vote 20908 Views
ลูกหมาขี้ตกใจ แก้อย่างไร?

พฤติกรรมการตกใจง่ายของสัตว์เลี้ยง เช่น พอเห็นคนเดินเข้ามาปุ๊บ ก็ตกใจเหมือนว่าเค้า
จะเข้ามาทำร้าย มันกระโดด ร้อง หนี แล้วก็ฉี่แตก หากท่านใดเคยมีประสบการณ์เลี้ยงหมาที่ขี้กลัวขนาดนี้
หรือไม่ หากหมา ของคุณ ขี้กลัว ตกใจง่าย จะทำยังไงกับเค้าดี จะให้เค้าคลายความวิตก หรือลดความหวาด
กลัวลงด้วยวิธีไหนบ้าง หมอขอบอกว่าไอ้เรื่องขี้กลัวนี่บางทีก็บอกยาก เป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว มักพบในสุนัข
ที่มีนิสัยติดคน หรือติดเจ้าของมากๆ และอาจได้เคยถูกเอาใจตั้งแต่มันยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อยู่ แต่กรณีที่กลัวจนชัก
ช็อก อันนี้น่ามีปัญหาระบบประสาท หรือหากเขามีปัญหาลมชัก อาจเกิดจากคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมองมันรวน
ทำให้ตื่นเต้น ตกใจง่าย จนเกิดการชักตามมา ดังนั้นขอแนะนำให้พามาพบหมอ เพื่อตรวจระบบประสาท
และประเมินอาการค่ะ

สุขภาพทางด้านจิตใจของสุนัขเป็นส่วนสำคัญของคุณภาพของสุนัข ซึ่งเราไม่ควรละเลย
ถ้าหากสุนัขตัวนั้น มีสุขภาพจิตไม่ดีก็ถือว่า เป็นสุนัขที่สมบูรณ์ไม่ได้ สุนัขที่ตกใจเพราะเสียงดัง อาจเป็น
เพราะไม่เคยได้ยินเสียงนั้นมาก่อน เราสามารถฝึกให้เขาคุ้นเคยกับเสียงในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงเครื่องยนต์
ของรถมอเตอร์ไซด์ เสียงประทัด เสียงฟ้าร้อง เสียงเครื่องบิน เสียงฉาบตีกระทบกัน เสียงไมโครโฟน
เสียงเพลง เสียงเด็กร้อง ถ้าหากเป็นเสียงที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน อาจมีปฏิกิริยาต่อเสียงที่เค้าแสดงออก
ด้วยอาการกลัว ตกใจ หางตก ตัวสั่น หาที่หลบหรือที่ซุกเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

เมื่อใดที่สุนัขมันกระโดดไปมา หรือวิ่งไม่ยอมหยุด นั่นเป็นสัญญาณว่า สุนัขกำลังตื่นเต้นอย่างมาก

ซึ่งการแสดงออกเช่นนี้ไม่เป็นผลดีนัก เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้สุนัขบางตัวเกิดภาวะฉี่เล็ด สุนัขที่ถูกแกล้ง
ให้ตกใจกลัว เมื่อโตขึ้นอาจจะมีนิสัยขี้ระแวงได้ หรือการที่เด็กเล็กชอบใช้มือทั้งสองข้างตะปบไปบนตัวสุนัข
หรือขยำด้วยความรุนแรง เพราะความไร้เดียงสาของเด็ก และยังไม่รู้จักกำหนดความเบา-หนัก ของกำลังแขน
จะทำให้สุนัขตกใจ และวิ่งหนี จะสังเกตได้ว่าสุนัขสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองเมื่อสุนัขเห็นเด็ก คนนี้เดินเข้ามาใกล้
มันจะรีบหลบหลังเจ้าของ หรือแอบซุกตัวอยู่ไม่ให้เด็ก ๆ ได้เห็นตัวมัน เพราะเกิดประสบการณ์เดิม
จึงเป็นสาเหตุให้สุนัขบางตัวไม่ชอบเด็กเล็ก ๆ

โดยปกติลูกสุนัขทุกตัวจะมีนิสัยร่าเริง การดูนิสัยของสุนัขว่า เป็นสุนัขขี้ขลาด ขี้อาย ปราดเปรียว
ขี้เล่น นั้น เราอาจสามารถทดสอบได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น การปรบมือ การสั่นพวงกุญแจ หรือดีดนิ้วเรียกให้เขา
มาหา แล้วพิจารณาสังเกตอาการตอบรับของสุนัขว่าแสดงอาการตกใจ กลัว วิ่งหนี หรือเข้ามาหาเพื่อประจบ
หยอกล้อด้วย สุนัขบางตัวเมื่อมีอาการตกใจเพียงเล็กน้อย เช่น หางตก ใบหน้าตื่น ๆ เพื่อดูลาดเลา
สักครู่ก็จะมีอาการปกติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของลูกสุนัขที่ยังเล็กอยู่ ถ้าสุนัขแสดง ความหวาดกลัวตัวสั่น
อย่างเห็นได้ชัด หรือหลบไปซุกอยู่ตามมุมกรง ไม่ยอมขยับตัว หรือสุนัขบางตัวอาจแสดง อาการขู่ คำราม
แสดงว่า ลูกสุนัขตัวนั้นอาจจะมีความผิดปกติด้านจิตใจได้ หากสามารถเลือกได้คุณควรเลือกสุนัขที่แสดง
อาการเป็นมิตร มีความกระตือรือร้น กระดิกหาง หรือเห่าตอบรับกับการที่คุณมาเล่นด้วยจะดีกว่า

วิธีแก้ไขสุนัขขี้ตกใจ ขี้กลัว

1. สร้างประสบการณ์ให้เกิดความคุ้นเคย

ฝึกให้ลูกสุนัขเดินในสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดที่สะอาด โดยให้เดินสวนกับคนแปลกหน้าและให้ได้ยิน
เสียงคนแปลกหน้าที่เค้าไม่เคยรู้จักบ้าง ให้คนแปลกหน้าได้สัมผัสกับขนของเค้า ให้ได้ยินเสียงรถยนต์
และเสียง ต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย และพยายามที่จะให้ลูกสุนัขได้ออกนอกบ้านบ่อย ๆ จะทำให้
ลูกสุนัขเกิดความเคยชิน เมื่อได้ยินเสียงต่าง ๆ จะทำให้ลูกสุนัขไม่เกิดความกลัว หรือความตกใจ
เมื่อนำลูกสุนัขไปสนามประกวด สวนสาธารณะก็จะทำให้ลูกสุนัขสามารถปรับตัวและเรียนรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ซึ่งจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้แก่ลูกสุนัขได้โดยไม่ยากนัก การฝึกลูกสุนัขเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว
จะต้องฝึกด้วยความนิ่มนวล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกสุนัขมากยิ่งขึ้น

2. นวดสัมผัสให้ผ่อนคลาย

เมื่อลูกสุนัขมีอาการตกใจกลัว ควรผ่อนคลายให้สุนัข หายตื่นเต้น ตกใจ ด้วยการลูบหัว หรือนวดไปตาม
ลำตัวเบา ๆ การสัมผัส ลูบไล้ตัวสุนัขด้วยความเอ็นดูทะนุถนอม สามารถสร้างความอบอุ่นและสื่อสัมพันธ์ที่ดี
ระหว่างคุณและตัวลูกสุนัข ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลได้

3. รักษาด้วยการกอด

การที่เจ้าของกอดรัดโดยการกระชับกอดเค้าแน่น ๆ เสมือนหนึ่งเป็นการปลอบประโลม จะสร้างความอบอุ่น
ให้แก่สุนัขและรู้สึกปลอดภัย

4. ทักทายและพูดคุยด้วยความนุ่มนวล

ทักทายลูกสุนัขด้วยการนั่งลง และใช้มือเกาหรือลูบที่บริเวณใต้คางของสุนัข จะทำให้สุนัขรู้สึกสบายใจ
คลายความวิตกกังวลการ แสดงความรักสุนัข คือ การลูบหัวพร้อมกับคำพูดที่นุ่มนวล สุนัขจะตอบรับและแสดง
ความรักกับเจ้าของด้วยการเลียใบหน้าหรือเลียมือเจ้าของ

5. พาออกกำลังกาย

วิธีธรรมชาติ ที่จะทำให้ลูกสุนัขถูกปลดปล่อยอารมณ์ที่สะสมอยู่ คือให้ออกกำลังกายในสถานที่ที่มี
อากาศบริสุทธิ์ ควรมีบริเวณให้วิ่งเล่น ไม่ควรกักขังลูกสุนัขตลอดเวลา


การรักษาลุกสุนัขที่ขี้กลัว ขี้ระแวง ขี้ตกใจ ไม่ยากเลยเราสามารถฝึกสอนให้มันทำกิจกรรมต่าง ๆ
อาจช่วยทำให้เค้าเข้าสังคมได้ดี สุนัขที่ได้รับการฝึกสอนที่ดี จะเป็นสุนัขที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าในตัว
ของตัวเอง สุนัขที่ฉลาดจะสามารถปรับตัวได้ง่าย เรียนรู้ได้รวดเร็ว สามารถสร้างความสนใจให้แก่ผู้พบเห็น
และสร้างความภูมิใจ ให้แก่เจ้าของ คุณจะได้รับความสุขกายสบายใจ และได้เรียนรู้ถึงการเห็นคุณค่าของ
กันและกัน

โดย สัตวแพทย์หญิงอรญา ประพันธ์พจน์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน