ดูกันว่าชิวาวาเจออะไรถึงผ่าคลอด?
0 Vote 11441 Views
ประวัติความเป็นมา

น้องมันนี่ แม่สุนัขพันธุ์ชิวาวา มาฝากคลอด เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้พาน้องไปอัลตราซาวน์มาแล้วคุณหมอบอกว่าน้องใกล้คลอด แต่ตอนกลับมาอยู่บ้าน ก็ยังไม่มีอาการขุดคุ้ยตามพื้น ... ยังคงร่าเริง และทานอาหารได้ตามปกติ

วินิจฉัยเบื้องต้น

เมื่อตรวจร่างกายพบว่าน้องมันนี่แข็งแรงดี เต้านมเต่ง แต่บีบเต้านมยังไม่มีน้ำนมไหลออกมา

เอกซเรย์ช่องท้องพบลูกอย่างน้อย 1 ตัว และหัวกะโหลกของลูกค่อนข้างใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าเชิงกรานของแม่หรือเกือบพอดี ซึ่งแปลผลได้ว่าแม่มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถคลอดเองได้ จากขนาดลูกที่ใหญ่และแม่อาจไม่มีแรงเบ่ง

ดังนั้นน้องมันนี่ควรทำการผ่าคลอด นอกจากนี้ทำการอัลตราซาวน์ช่องท้องก็พบอัตราการเต้นของหัวใจของลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ และอยู่ในระยะใกล้คลอดในช่วง 1 อาทิตย์

ในระหว่างแอดมิทได้ระยะหนึ่ง น้องมันนี่เริ่มแสดงอาการคุ้ยผ้าปูรองนอน และมีอาการกระวนกระวาย

คุณหมอทำการอัลตราซาวน์ช่องท้องตรวจดูเป็นระยะ พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจของลูกอยู่ในเกณฑ์ใกล้คลอด น้องมันนี่จึงเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าคลอด โดยไม่ได้ทำหมัน มีการเย็บปิดแผลของมดลูก เพื่อให้สามารถมีลูกได้ในครอกถัดไป

ในที่สุดน้องมันนี่ก็เป็นคุณแม่มือใหม่ ที่ผ่าคลอดได้ลูก 1 ตัว ทั้งยังให้ความเอาใจใส่และดูแลลูกได้เป็นอย่างดี

เกร็ดความรู้

การตั้งท้องและการคลอดลูก สิ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยคุณแม่ที่น่ารักของเราก็คือ
- การซักประวัติ
- การตรวจร่างกาย
- การเอกซเรย์
- และการอัลตราซาวน์

กรณีเอกซเรย์ในรายที่ตั้งท้อง จะสามารถพบเห็นกระดูกของลูกตั้งแต่อายุท้อง 45 วันขึ้นไป ประเมินจำนวนลูกขั้นต่ำ และดูขนาดหัวกะโหลกของลูกเทียบกับเชิงกรานของแม่ได้

ส่วนการอัลตราซาวน์สามารถดูการมีชีวิตอยู่ของลูก อัตราการเต้นของหัวใจของลูก และประเมินช่วงระยะเวลาการตั้งท้องได้เบื้องต้น ดังนั้นหากเริ่มเห็นว่าสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในช่วงตั้งท้อง แนะนำให้พามาตรวจกับคุณหมอล่วงหน้าจะดีกว่าค่ะ

สพ.ญ. ศศิธร หงส์สวัสดิเดช
โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท