“หัวใจ” ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากหัวใจมีหน้าที่ในการสูบฉีดเลือด เพื่อนำออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ผ่านทางหลอดเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ความผิดปกติที่เกิดกับหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งสุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจได้จริงๆ โรคหัวที่พบในสุนัขสามารถพบตั้งแต่เกิด หรือหลังเกิด แต่โดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจในสุนัขมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางๆ ชีวิต โรคหัวใจของสุนัขที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired heart disease) เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด สุนัขที่พบว่าเป็นโรคหัวใจมักเป็นสุนัขที่มีอายุมาก
โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. โรคลิ้นหัวใจเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัข
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัว หรือผนังห้องหัวใจบาง และอ่อนแอ มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในแมว
โรคหัวใจทั้งสองชนิดจะค่อยพัฒนาขึ้น โดยใช้ระยะเวลา แต่ผลในที่สุดก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า หัวใจล้มเหลว (heart failure)
อาการของโรคหัวใจในสุนัขค่อนข้างผันแปร หรือไม่แน่นอน อาการของโรคหัวใจนั้นสามารถบ่งบอกได้ยาก เพราะมักคล้ายกับความผิดปกติของโรคอื่นๆ ซึ่งอาจจะพบได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้จนถึงสามารถสังเกตพบอาการได้ แต่อาการจะมีความเด่นชัด หรือมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมีมากขึ้น ถ้าหากคุณพบอาการเหล่านี้ในสุนัขของคุณนั่นอาจจะแสดงว่าสุนัขของคุณมีความผิดปกติของหัวใจ
• อ่อนเพลียง่าย หรือขาดพลังงาน (lack of energy)
• หายใจลำบาก
• ไม่กินอาหาร และน้ำหนักตัวลดลง
• มีการไอบ่อยๆ
• อ่อนแอ เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง
• เป็นลม หมดสติ (fainting)
• ท้องบวมขยายใหญ่ (abdominal swelling)
เมื่อพบอาการดังกล่าวผู้ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุดว่าสุนัขเป็นโรคหัวใจหรือไม่ คือ สัตวแพทย์ประจำตัวสุนัขของท่าน เมือนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์อาจจะถามเจ้าของถึงอาการ หรือข้อมูลที่จำเพาะเกี่ยวกับสุนัขของท่าน (การซักประวัติสัตว์ป่วย) ก่อนที่จะทำการตรวจร่างกายสุนัข ถ้าสัตวแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพ หรือโรคหัวใจ อาจจะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยโรคที่จำเพาะมากขึ้น เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ๊กเรย์ ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) ตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiography )หรือตรวจวิธีการอื่นๆที่จำเป็น
การนำสุนัขของท่านไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจร่างกาย เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ตรวจพบปัญหาทางสุขภาพ หรือโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์
แผนกโรคหัวใจ