การเตรียมตัว และจัดการการคลอดลูกกระต่าย
2 Votes 79835 Views

(โดย สพ.ญ.พรพลอย ทองจุไร หมอบอมบ์@ธัญพลอย รักษาสัตว์)

หลังจากผสมพันธุ์แม่กระต่ายจะใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 1 เดือน ในช่วงระยะท้ายของการตั้งท้องจะพบว่าแม่กระต่ายมีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป ซึ่งการสังเกตุอาการเหล่านี้ เจ้าของสามารถสังเกตุได้เองเบื้องต้นว่ากระต่ายของเราตั้งท้องจริงหรือไม่ เช่น การพุ่งเข้าใส่มือเจ้าของเวลาให้อาหาร ,การใช้ขาหน้าตบหรือตะกายเวลาที่เจ้าของยื่นมือเข้าไปในกรง มีการส่งเสียงร้องอึ้ดๆเวลาถูกจังสัมผัสตัวหรือถูกอุ้ม และจะพยายามขุดตามมุมกรงหรือมุมห้อง

การเตรียมการใ้ห้แม่กระต่ายก่อนการคลอดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีการจัดการเตรียมความพร้อมที่ดีก่อนการคลอด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการคลอด ปลอดภัยทั้งแม่และลูกกระต่ายก็มีสูงตามไปด้วย

1.การจัดการกรงและสิ่งแวดล้อม

ตั้งกรงกระต่ายในบริเวณที่เงียบสงบ อากาศถ่ายเทสะดวก ปลอดภัยจากสัตว์อื่น
เตรียมรังคลอดให้แม่กระต่าย โดยอาจจะใช้เป็นรังคลอดแบบไม้พื้นตาข่ายที่มีขายทั่วไป หรือหากไม่มีรังคลอดแบบไม้ อาจใช้เป็นตะกร้าพลาสติกที่มีขอบยกสูง
ติดขวดน้ำ ชามอาหาร รางใส่หญ้าในตำแหน่งที่เหมาะสม
กรงควรจะมีพื้นที่กว้างพอสมควรสำหรับให้แม่กระต่ายนอนอยู่นอกรังคลอดได้ ไม่คับแคบจนเกินไป
ในกรณีที่เป็นช่วงอากาศหนาว อาจเตรียมโคมไฟส่องเข้าไปในกรงหรือติดหลอดไฟเำพิ่มในกรง(ระมัดระวังการเดินสายไฟ)

ภาพตัวอย่างการเตรียมกรงคลอด

2.การจัดการก่อนคลอด

ควรเตรียมหญ้าแห้ง เช่นหญ้าแพงโกล่าใส่ไว้ในกรงหรือรางหญ้าในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อให้กระต่ายใช้คาบไปสร้างรัง
1-2วันก่อนคลอด แม่กระต่ายจะถอนขนตัวเองบริเวณหน้าอก สะโพกและข้างลำตัวเพื่อปูรองรังคลอด และจะคาบเศษหญ้าเข้าไปไว้ในรังคลอดเพื่อสร้างรัง เจ้าของไม่ควรไปยุ่งกับเศษขนและเศษหญ้าเหล่านั้น และห้ามเก็บทิ้งโดยเด็ดขาด
ช่วงใกล้คลอดแม่กระต่ายจะกินอาหารน้อยลงเนื้อจากจะมัววุ่นวายสาละวนอยู่กับการสร้างรังคลอด

พฤติกรรมการถอนขนของแม่กระต่ายเพื่อปูรังคลอด

การคาบหญ้าเพื่อเอาเข้าไปสร้างรัง

หากไม่มีรังคลอดแบบไม้สามารถใช้ตะกร้าขอบสูงแทนได้

3.การจัดการการคลอด

เมื่อแม่กระต่ายเริ่มเบ่งคลอด เจ้าของอย่าเข้าไปยุ่งวุ่นวาย ปล่อยให้กระต่ายอยู่อย่างสงบเงียบ โดยปกติการคลอดมักจะเสร็จสิ้นภายใน3-4ชม. หากนานกว่านั้นอาจเป็นภาวะคลอดยาก ลูกกระต่ายอาจจะเสียชีวิตได้จากการที่ตัวใหญ่เกินไป หรือแม่กระต่ายตัวเล็กเกินไป
ถ้าแม่กระต่ายมีอาการหมดแรง นอนหัวตกเดินเซ สามารถป้อนน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคสให้ได้
ปกติโดยธรรมชาติเมื่อลูกกระต่ายคลอดออกมาแล้ว แม่กระต่ายจะกัดรกและเลียตัวทำความสะอาดให้ หากในขั้นตอนนี้แม่กระต่ายทิ้งลูกและไม่ยอมทำ เจ้าของจำเป็นต้องช่วยเหลือลูกกระต่ายเช็ดตัวให้แห้ง ดึงเอาถุงและเมือกที่ห่อหุ้มตัวออกให้หมด
ช่วงนี้หากแม่กระต่ายเลี้ยงลูกได้เอง เจ้าของควรปล่อยให้กระต่ายให้นมไม่ควรเข้าไปยุ่งวุ่นวาย อาจหาผ้าคลุมไว้ที่กรงเพื่อลดการรบกวน ถ้าไปยุ่งมากเกินไปแม่กระต่ายจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและจะทิ้งลูกไปเลยหรือถีบลูกออกจากรัง
วิธีตรวจสอบว่าลูกกระต่ายได้ดูดนมหรือไม่ ให้ดูที่ท้องของลูกกระต่าย หลังดูดนมท้องจะป่องและมองเห็นเส้นเลือดที่ผิวหนัง แต่หากลูกกระต่ายตัวเหี่ยวแห้งลงเรื่อยๆ และท้องแฟ่บแสดงว่าไม่ได้ดูดนม แม่กระต่ายไม่ยอมเลี้ยงลูก
หากแม่กระต่ายไม่ยอมเลี้ยงลูกให้อ่านบทความเรื่อง การอนุบาลลูกกระต่าย

ลูกกระต่ายแรกเกิด

ลูกกระต่ายอายุ 1 สัปดาห์

แม่กระต่ายปูขนเตรียมรังคลอด

ลูกกระต่ายอายุ 10 วัน (ให้เจ้าของสังเกตุตั้งแต่วันแรกว่าแม่กระต่ายเลี้ยงลูกเป็นหรือไม่โดยดูที่ตัวลูกกระต่าย หากได้ดูดนมพุงจะป่อง)

ลูกกระต่ายอายุ 3 สัปดาห์ เริ่มออกมาจากรังคลอด เริ่มแทะกินอาหารและหญ้าได้ แต่ยังคงต้องกินนมเป็นหลัก

ลูกกระต่ายอายุ 3 สัปดาห์ เริ่มออกมาจากรังคลอด เริ่มแทะกินอาหารและหญ้าได้ แต่ยังคงต้องกินนมเป็นหลัก