กระต่ายฟันยาว การสบฟันผิดปกติ (Malocclusion in Rabbits)
0 Vote 41819 Views

กระต่ายฟันยาว การสบฟันผิดปกติ (Malocclusion in Rabbits)

โดย สพ.ญ. พรพลอย ทองจุไร

(หมอบอมบ์ @ ธัญพลอย รักษาสัตว์)

เนื่องจากฟันของกระต่าย มีรากฟันที่เป็นปลายเปิด (Rabbit teeth are open-rooted)
เพราะฉะนั้นแสดงว่า ฟันของกระต่ายจะสามารถงอกยาวไปได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต (คล้ายๆกับงาช้าง) ต่างจากฟันของมนุษย์ที่มีรากฟันปลายปิด จึงไม่มีปัญหาการงอกยาวที่ผิดปกติ

*** แต่ในกระต่ายที่มีลักษณะปกติตามธรรมชาติ มุมฟันของกระต่ายจะสบกันพอดี ร่วมกับการเคี้ยวหญ้า ทำให้อัตราการงอก และการสึกของฟันเท่ากัน เราจึงไม่พบการงอกยาวผิดปกติของฟัน ***

(ลักษณะรากฟันปลายเปิด ทำให้ฟันกระต่ายงอกยาวได้ตลอดชีวิต ที่มา http://slideplayer.com/slide/1661456/)

ซึ่งเมื่อลักษณะรากฟันเป็นดังนี้ จะพบว่ามีกระต่ายกลุ่มที่ผิดปกติอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มีมุมของการงอกของฟันที่ผิดปกติ ทำให้ฟันบนและล่างไม่สบกัน ไม่ชนกัน ฟันจึงไม่สึกจงอกยาวออกมาเรื่อยๆ ลักษณะที่ผิดปกตินี้สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจาก การถ่ายทอดทางพันธุกรรม(พบมาก) คือถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก ถ้าพ่อแม่ที่ฟันยาว ลูกก็มักจะเป็นด้วย หรือบางกรณีอาจเกิดจากการเคี้ยวกินหญ้าน้อยเกินไป กินแต่อาหารเม็ดและพืชผักที่นิ่มๆ หรืออุบัติเหตุทำให้มุมกรามผิดปกติไป (พบน้อย) (เก็บข้อมมูลจาก คลินิกธัญพลอย รักษาสัตว์)

วิธีการง่ายๆในการสังเกตุว่าน้องกระต่ายของเรามีอาการฟันยาวผิดปกติจากปัญหาฟันไม่สบกันหรือไม่ เจ้าของสามารถทำได้เองเบื้องต้นดังนี้

1. ฟันหน้ายาวออกมาจนมองเห็นได้ชัด ให้เจ้าของรีบเปิดปากตรวจดู โดยยกริมฝีปากบนบริเวณใต้จมูกขึ้นดู หากพบฟันหน้ามีรูปร่างลักษณะที่ผิดไปจากรูปฟันที่ปกตินี้ ให้สงสัยว่าเกิดปัญหาฟันงอกยาวผิดปกติ

(ลักษณะฟันหน้ากระต่ายที่ปกติ สังเกตุว่าฟันบนจะครอบอยู่เหนือฟันล่าง และฟันบนและล่างจะสบกันสนิทพอดี ที่มา :http://flynnvets.com/rabbit-health-know-the-signs/)

*** แต่หากเปิดดูแล้วพบว่าฟันหน้ากระต่ายมีการงอกยาวผิดปกติดังภาพข้างล่าง ให้รีบพามาพบสัตวแพทย์เพราะกระต่ายของท่าน จะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีฟันผิดปกติ และต้องได้รับการแก้ไขเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป****

ลักษณะฟันกระต่ายที่ผิดปกติ ฟันล่างครอบออกมาอยู่นอกฟันบน ทำให้มุมฟันไม่สบกัน ฟันจึงไม่สึก และงอกยาวออกมาได้เรื่อยๆ)

ลักษณะฟันที่สบผิดปกติ (ที่มา: http://www.medirabbit.com/EN/Dental_diseases/Differential/D_problems1.htm)

2.น้ำลายเปียกใต้คาง หากพบว่ากระต่ายมีน้ำลายเปียกที่ใต้คางและมีกลิ่นเหม็น มักพบว่าเกิดจากฟันกรามยาวทิ่มกระพุ้งแก้มและลิ้น ทำให้เกิดเป็นแผลอักเสบติดเชื้อภายในช่องปาก ต้องพามาพบสัตวแพทย์เพื่อส่องกล้องตรวจดูฟันกราม

(ส่องกล้อง Endoscope เพื่อตรวจดูลักษณะฟันกราม รอยแผลที่กระพุ้งแก้มและลิ้น )

3.น้ำตาไหลเปียกแฉะตลอดเวลา จากการอุดตันของท่อน้ำตา ซึ่งสาเหตุเป็นไปได้หลายอย่าง และหนึ่งในนั้นที่พบมากคือปัญหาจากรากฟันยาวขึ้นไปขวางท่อน้ำตา ทำให้ท่อน้ำตาอุดตัน น้ำตาไหลผ่านเข้ารูจมูกไม่ได้จึงล้นออกมานอกตาทำให้ขนบริเวณรอบดวงตาและข้างแก้มเปียกแฉะ

(การตรวจการไหลของท่อน้ำตาโดยใช้สารเรืองแสงหยอดตา หากท่อน้ำตาปกติจะพบสารเรืองแสงไหลผ่านมาออกที่รูจมูกและกลืนกลับเข้าปากได้ แต่หากมีการอุดตัน จะพบสารเรืองแสงไหลล้นออกมานอกตา ไม่โผล่ที่จมูก ต้องทำการ X-ray ต่อ เพื่อดูว่าเป็นปัญหาจากรากฟันกรามหรือยาวขึ้นไปขวางท่อน้ำตาหรือไม่)

4.พบว่ากระต่ายผอมลง เลียกินขวดน้ำไม่ได้ กินอาหารได้น้อย ลักษณะท่าทางการกินผิดปกติไป ปล่อยให้ขนสกปรกและเป็นก้อนเนื่องจากทำความสพอาดตัวเองไม่ได้ กินได้แต่อาหารที่เม็ดเล็กและผักนิ่มๆ ให้พามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิมเติม

วิธีการรักษาและการดูแลกระต่ายฟันยาว

1.กระต่ายที่มีอาการฟันหน้ายาวมาก ไม่สามารถเลียกินน้ำและใช้ฟันหน้ากินอาหารได้ ฟันยาวทิ่มจนเกิดแผลที่ริมฝีปาก เมื่อพามาพบหมอ อย่างแรกที่ต้องทำคือ การกรอตัดฟันหน้าให้สั้นในระดับปกติ เพื่อให้กระต่ายกลับมาดำรงชีวิตได้ปกติ กินน้ำและอาหารได้ กินอึพวงองุ่นได้ และทำความสะอาดร่างกายตัวเองได้


การกรอฟันหน้าด้วยเครื่องกรอฟันจะต้องทำโดยหมอผู้ชำนาญ และหลังจากตัดฟันที่ยาวเกินออกแล้วหมอจะกรอลบเหลี่ยมมุมเพื่อให้ฟันกระต่ายได้รูปทรงที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด และไม่มีมุมแหลมคมทิ่มให้เกิดแผลในช่องปาก