เรื่องเล่าจากเวียงจันทน์...“เจ้าวายร้ายที่แฝงตัวมากับเห็บ”
ข้อมูลสัตว์ป่วย
น้องเต้าหู้ เป็นลูกสุนัขตัวจิ๋วน่าเอ็นดูอายุเพียง 2 เดือน พันธุ์พุดเดิ้ลเพศเมีย เจ้าของพาน้องเต้าหู้มาหาคุณหมอเนื่องสังเกตว่าน้องเต้าหู้มีซึม ชอบนอนเฉย ๆ เล่นน้อยลงจากเดิม เมื่อซักประวัติเพิ่มเติมพบว่า เจ้าของเลี้ยงน้องเต้าหู้มาตั้งแต่เกิด ยังไม่ได้ทำวัคซีน และมีเห็บหมัดบ้างแต่ไม่เยอะ
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
อาการที่คุณหมอพบได้ตั้งแต่แรกเห็นคือ น้องเต้าหู้มีอาการซึม อ่อนแรง เยื่อเมือกสีชมพูซีด มีภาวะแห้งน้ำ จึงทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคพื้นฐาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า น้องเต้าหู้มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำกว่าค่าปกติ และเมื่อย้อมสีแผ่นสไลด์ของเลือดแล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์พบสิ่งมีชีวิตชนิดจิ๋ว เป็นปรสิตตัวฉกาจที่รู้จักกันดีในนาม พยาธิเม็ดเลือด
การรักษา
แนวทางในการรักษา เบื้องต้นคือมีการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มพลังงานให้น้องเต้าหู้ โดยที่การรักษาภาวะโลหิตจางอันเนื่องมาจากพยาธิเม็ดเลือดนั้น ทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดพยาธิเม็ดเลือดโดยเฉพาะ ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์และเสริมด้วยยาบำรุงเลือด จากนั้นมีการตรวจเลือดซ้ำเพื่อประเมินสภาพเป็นระยะ ทุก 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
เต้าหู้น้อยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทสาขาเวียงจันทน์ ลาว น้องเต้าหู้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจนอาการโดยรวมดีขึ้น จึงสามารถกลับบ้านได้ ให้เจ้าของป้อนยา มีการนัดตรวจอาการและค่าเลือดกับคุณหมอเป็นระยะ
เกร็ดความรู้จากคุณหมอ
พยาธิเม็ดเลือดเป็นเชื้อที่ติดจากเห็บที่เป็นพาหะ หากสุนัขที่ถูกเห็บที่มีเชื้อ แม้เพียงตัวเดียวก็สามารถนำโรคมาให้สุนัขได้ ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการโรคนั้นขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของสุนัขร่วมด้วย
อาการที่สามารถพบได้เมื่อสุนัขติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด นอกเหนือจากการซึม อ่อนแรงแล้ว สุนัขอาจมีไข้ มีภาวะเลือดออกง่ายเนื่องจากเกล็ดเลือดที่ทำหน้าที่ให้เลือดแข็งตัวมีอยู่ในปริมาณต่ำ เช่นมีเลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกตามตัว บางตัวที่เป็นรุนแรงอาจกระทบถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต และสมองได้
วิธีการป้องกัน คือการกำจัดสาเหตุ ซึ่งก็คือ เห็บ ด้วยการกำจัดและทำความสะอาดออกจากสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอาศัยอยู่ และหยดยาหรือฉีดยาป้องกันเห็บหมัดให้สุนัขเป็นประจำทุกเดือน
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ. วรัญญา กิจสาสน
(สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา)