เรื่องเล่าจากเวียดนาม...“น้ำสีแดงเหล่านี้มาอยู่ในร่างกายของเจ้าเหมียว คุณหมอจะทำอย่างไรดี”
27 พฤษภาคม2559
ประวัติและข้อมูลสัตว์ป่วย
แมวเพศผู้ ชื่อ me’o อายุประมาณ 2 ปี ทำหมันแล้ว เจ้าของเห็นเพียงแต่แมวมีอาการซึม ทานอาหารลดลง มีอาการเบ่งถ่าย ไม่ถ่ายอุจจาระมาประมาณ 1-2วัน แต่ไม่เห็นการขับถ่ายปัสสาวะ
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
เมื่อดูอาการโดยทั่วไปของน้องแมว มีภาวะขาดน้ำ ท้องขยายกางใหญ่ คลำท้องพบว่ากระเพาะปัสสาวะมีขนาดใหญ่มากและแข็ง แมวมีอาการปวดเกร็งมาก คาดว่าอาการที่เจ้าของเห็นว่าเบ่งถ่าย อาจเกิดจากแมวไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้นั่นเอง
หลังจากที่พบว่าแมวมีปัญหาขับถ่ายปัสสาวะไม่ออก สัตว์แพทย์ทำการสวนท่อปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออกมา พบว่าปัสสาวะที่ได้มีสีแดงปนเลือดสด และมีตอนสวนมีตะกอนนิ่วเล็ก ๆ อุดอยู่ที่บริเวณปลายอวัยวะเพศ หลังจากระบายปัสสาวะออกได้ทำการคลำช่องท้องเพิ่มเติมไม่พบลำของอุจจาระแต่อย่างใด จึงได้ทำการเจาะเลือด ผลปรากฏว่าค่าไตและค่าของเสียจากการกรองของไต สูงผิดปกติมาก เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาปัสสาวะไม่ออก ทำให้ปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในท่อทางเดินปัสสาวะ จนเกิดการอักเสบตามมา
การรักษา
หลังจากสวนท่อปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะที่คั่งค้างในกระเพาะปัสสาะวให้เจ้าเหมียวแล้ว แมวมีอาการสบายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่ทนทุกข์ทรมานจากการปัสสาวะไม่ออกมาหลายวัน สัตวแพทย์จึงให้สารน้ำเข้าเส้นเลือด เพื่อแก้ไขภาวะการขาดน้ำและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังไต เพื่อช่วยกำจัดของเสียที่คั่งค้างในร่างกายออก เย็บคาท่อปัสสาวะไว้เพื่อช่วยระบายปัสสาวะและเฝ้าสังเกตุสีของปัสสาวะต่อเนื่อง สัตวแพทย์รับน้องแมวเข้ารักษาเป็นสัตว์ป่วยภายในเพื่อดูอาการ ให้ยาปฏิชีวนะ และยาบำรุงกระเพาะปัสสาวะ
หลังการรักษา 3 วันพบว่าปัสสาวะมีสีเหลืองใสขึ้น ไม่พบภาวะขาดน้ำ ค่าไตและของเสียในเลือดลดกลับลงมาจนเป็นปกติ คุณหมอจึงอนุญาตให้น้องแมวกลับบ้านและดูแลป้อนยาต่อที่บ้าน
เกร็ดความรู้
โรคปัญหาทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว หรือ Feline lower urinary tract disease (FLUTD) มักพบได้บ่อยโดยเฉพาะแมวตัวผู้จะพบมากกว่าแมวตัวเมีย และแมวที่ทำหมันแล้วจะพบมากกว่าแมวที่ไม่ทำหมัน สาเหตุอาจเกิดจากความเครียดหรือการติดเชื้อ ปัจจัยการโน้มนำอาจมาจากเรื่องอาหาร และสิ่งแวดล้อม พบว่าอาหารสำเร็จรูปแมวมีผลก่อให้เกิดนิ่ว (นิ่วในแมวมักเป็นนิ่วตะกอนทราย ซึ่งตรวจด้วยการเอ๊กซเรย์ จะมองไม่เห็นก้อนนิ่ว) และอุปนิสัยของแมวหากมีภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม อาหาร หรือปัจจัยใดใดก็ตามข้างต้น มักทำให้แมวทานน้ำน้อย อาจยิ่งเป็นปัจจัยส่งผลก่อให้เกิดภาวะนิ่วได้ แล้วเกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมวตามมา ซึ่งพบว่าแมวที่เป็นโรคนี้มักไม่หายขาดหลังการรักษา อาจกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อย ๆ
แนวทางการป้องกัน ปรับพฤติกรรมการทานอาหารและน้ำ แมวที่เป็นโรคนี้อาจต้องปรับอาหารสูตรควบคุมการเกิดนิ่ว urinary s/o หรือ C/d (เป็นอาหารรักษาโรค) และปรับพฤติกรรมการทานน้ำ ให้กระตุ้นให้ทานน้ำมากขึ้น แมวชอบทานน้ำสด ใหม่ และเคลื่อนไหว การใช้น้ำพุแมวอาจช่วยกระตุ้นให้แมวทานน้ำได้มากขึ้น เจ้าของควรสังเกตอาการถ้าแมวเริ่มมีพฤติกรรมเดินเข้ากระบะทรายบ่อย ๆ เบ่งปวด นั่งนาน หรือปัสสาวะเป็นเส้นเล็กลง ให้รีบนำมาพบสัตว์แพทย์ เพราะถ้ามาช้าปัสสาวะไม่ออกอันตรายถึงกับชีวิตได้
สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา
สพ.ญ. ชนินันท์ สุทธิผล