เรื่องเล่าจากเวียงจันทน์...ก้อนกลมตรงหน้าท้อง น้องเป็นทองแดง
เรื่องเล่าจากเวียงจันทน์...ก้อนกลมตรงหน้าท้อง น้องเป็นทองแดง
ข้อมูลสัตว์ป่วย
ดุ๊กดิ๊กหนุ่มน้อยหน้ามน พันธุ์ปอมเมอร์ริเนียนอายุ 2 ปี มาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทสาขาลาวอยู่เป็นประจำตั้งแต่เด็ก เจ้าของสังเกตเห็นว่าสุนัขมีก้อนอยู่ตรงข้าง ๆ ขาหนีบ 2 ก้อน จึงมาเพื่อปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับก้อนตรงขาหนีบ น้องดุ๊กยิ่งมีการขับถ่ายที่ยังเป็นปกติดี ทานอาหารได้ดี
การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย
ดุ๊กดิ๊กยังร่าเริงดี เป็นสุนัขที่ดูจากภายนอกมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงเหมือนสุนัขทั่วไป พบเพียงแต่ลูกอัณฑะทั้งด้านซ้ายและขวาคาค้างอยู่ตรงขาหนีบทั้งสองข้าง ไม่ลงมายังถุงอัณฑะ สัตวแพทย์จึงแจ้งว่า น้องโดโดมีปัญหาเป็นทองแดงทั้งสองข้าง และแนะนำว่าควรผ่าตัดทำหมัน พร้อมกันนั้นเจ้าของอยากให้ขูดหินปูนร่วมด้วย
การรักษา
การรักษาทองแดงในสุนัขตัวผู้ โดยหลักการคือการทำหมันตัวผู้ทั่วไป โดยตำแหน่งในการผ่าอาจแตกต่างจาการทำหมันปกติเล็กน้อย เป็นที่น่าโชคที่ดีน้องดุ๊กดิ๊กมีทองแดงที่สามารถคลำและเห็นได้ชัดจากภายนอกช่องท้อง การผ่าตัดจึงเป็นไปได้ด้วยดี เมื่อนัดกลับมาดูอาการซ้ำจนกระทั่งตัดไหม พบว่าแผลผ่าตัดแห้งดีมาก เจ้าของมีวินัยในการดูแลบาดแผลหลังผ่าตัดเป็นอย่างดีและป้อนยาได้ครบถ้วนตามเวลา
เกร็ดความรู้
โดยปกติเจ้าของสามารถสังเกตว่าสุนัขมีลูกอัณฑะในถุงหุ้มอัณฑะได้ตั้งแต่สุนัขอายุ 2 เดือนเป็นต้นไป หากพ้นระยะเวลาไป1-2 ปีแล้ว พบลูกอัณฑะไม่ครบ 2 ข้างในถุงหุ้มอัณฑะ สุนัขตัวนั้นมีภาวะทองแดง ซึ่งสุนัขอาจจะยังไม่แสดงอาการใดใดในช่วงชีวิตก่อนเข้าสู่วัยชรา จนกระทั่งวันดีคืนดี ลูกอัณฑะที่ไม่อยู่ในถุงหุ้มเกิดการเจริญของเซลลส์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งได้ และมักพบในสุนัขอายุมาก นอกเหนือจากนี้ การไม่ทำหมันในสุนัขเพศผู้อาจมีผลโน้มนำทำให้เกิดปัญหาต่อมลูกหมากตามมาเนื่องจากปัจจัยจากฮอร์โมนเพศผู้ที่ถูกผลิตจากอัณฑะได้เช่นกัน
การรักษาภาวะทองแดงในสุนัขและแมวที่แนะทำกันเป็นมาตรฐานคือ การผ่าตัดทำหมันเอาอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหามะเร็งอัณฑะและต่อมลูกหมากตามมา และยังแนะนำควรผ่าตัดเอาออกในวันนี้ที่สุนัขยังมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ เพราะหากปล่อยให้สุนัขแก่ตัวลง สุนัขจะยิ่งมีความเสี่ยงในการวางยาสลบกว่าสุนัขวัยหนุ่ม อีกทั้งหากพบว่าก้อนทองแดงมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้การผ่าตัดยากขึ้น หรือไม่สามารถผ่าตัดออกได้เพราะเริ่มมีการลามและขยายบริเวณกว้างบดเบียดอวัยวะอื่น ๆ และจะโน้มนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
เรื่องและภาพโดย
สพ.ญ สุพัตรา จันทร์โฉม