โรคเหงือกอักเสบในแมว...ภัยเงียบที่เราควรรู้ !
แมวป่วยดูยากนะ
แมวมีนิสัยอิสระ และรักสันโดษ ยิ่งบางตัวไม่ค่อยชอบคลุกคลีอยู่กับคนทำให้ในบางครั้งการสังเกตว่าแมวป่วยจึงเป็นเรื่องยาก ประกอบกับแมวที่ป่วยมักไม่ค่อยแสดงอาการให้เราเห็นชัดเจน เจ้าของจึงมักเริ่มเห็นอาการเมื่อแมวป่วยไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงแมวต้องมีการดำเนินการของโรคมากขึ้นจนทำให้อาการป่วยเด่นชัดขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตามอาการป่วยปัจจุบันที่เจ้าของมักพาแมวมาพบสัตวแพทย์ด้วยอาการเริ่มแรก คือ ซึม ไม่กินอาหาร
ส่วนใหญ่มาด้วยอาการไม่กินอาหาร
อาการไม่กินอาหารนี้ มีสาเหตุได้หลายอย่าง ตั้งแต่
การเกิดการอักเสบของเหงือกและช่องปากจนไม่สามารถกินอาหารได้ไปจนถึงการเกิดความผิดปกติในการทำงานระบบต่างๆของร่างกาย
ซึ่งแนวทางในการวินิจฉัยและรักษาแตกต่างกันไป สำหรับน้องแมวพันธุ์ American shorthair อายุ 8 เดือนตัวนี้ได้เข้าพบสัตวแพทย์ด้วยอาการซึมไม่กินอาหาร
จากการซักประวัติเพิ่มเติมพบว่าน้องแมวทำวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดหวัดแมว ,โรคลิวคีเมียและเอดส์แมวอย่างครบถ้วน แมวเริ่มไม่ค่อยอยากกินอาหารเม็ด และกินอาหารเปียกเป็นส่วนใหญ่ในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา และค่อยๆกินปริมาณลดลงตามลำดับก่อนจะมาเริ่มไม่กินอาหารเลย
สัตวแพทย์เปิดปากดูพบว่ามีภาวะเหงือกอักเสบที่ฟันกรามด้านบนขวา และเริ่มมีกลิ่นปาก ส่วนผลการตรวจร่างกายอื่นๆปกติดี เบื้องต้นน้องแมวได้รับยาปฏิชีวนะ และยาลดอักเสบ ร่วมกับการล้างทำความสะอาดปากและพ่นเสปรย์ฆ่าเชื้อในปากทุกวัน ผ่านไป 1 สัปดาห์อาการดีขึ้นมากตอนนี้กลับมากินอาหารร่าเริงได้ปกติแล้ว
เหงือกอักเสบในแมว
โดยทั่วไปโรคเหงือกอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยในแมว
"มักพบในแมวพันธุ์แท้มากกว่าแมวขนสั้น(domestic short hair)ทั่วๆไป"
โรคเป็นได้กับทุกอายุซึ่งส่วนมากอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปและแมวแก่
สาเหตุเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหรือโปรตีนในช่องปากที่มากหรือน้อยเกินไป
การตอบสนองของภูมิคุ้มกันในช่องปากที่มากเกินไป ได้แก่ การตอบสนองต่อโปรตีนในอาหาร, การติดเชื้อไวรัส Calicivirus, การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก หรือแบคทีเรียจากคราบหินปูนในอาหาร เป็นต้น ดังนั้นในแมวที่กินน้ำน้อย หรือชอบกินอาหารเปียก ย่อมเป็นปัจจัยโน้มนำต่อการเกิดโรคเหงือกอักเสบได้ง่าย เนื่องจากทำให้มีการสะสมของปริมาณเศษอาหารและทำให้เป็นหินปูนได้ง่าย
สาเหตุอื่นๆ
การตอบสนองของภูมิคุ้มกันในช่องปากที่น้อยเกินไป อาจมาจากโรคผิดปกติของพันธุกรรม ที่ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ทำงาน ,การติดเชื้อไวรัสกลุ่มหวัดแมว ไวรัสเอดส์แมว และไวรัสลิวคีเมีย,โรคไม่ติดเชื้อ เช่น เบาหวาน เนื้องอก หรือได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิอยู่
สัญญาณของการอักเสบในช่องปาก
โดยสัญญาณเตือนว่าแมวเกิดการอักเสบภายในช่องปากก็คือ
- แมวจะเริ่มมีกลิ่นปาก
- น้ำลายไหล
- เกาหน้า
- ทานอาหารได้น้อยลงเพราะเจ็บปาก
- ชอบดมอาหารแต่ไม่ยอมทานอาหาร
- ไม่ชอบทานอาหารที่แข็งหรืออาหารเม็ด
- น้ำหนักตัวลด
- ไม่ชอบให้จับบริเวณใบหน้า
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต
- และบริเวณริมฝีปากและมุมปากเริ่มมีแผล เป็นต้น
เจ้าของแมวจึงควรหมั่นเปิดปากเช็คสุขภาพเหงือกและฟันของน้องแมวเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีของช่องปากน้องแมว และหากพบว่าน้องแมวเริ่มมีภาวะเหงือกอักเสบให้รีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันทีเพราะหากปล่อยทิ้งไว้บางตัวอาจลุกลามกลายเป็น
โรคเหงือกอักเสบและช่องปากอักเสบเรื้อรัง ทำให้แมวกินอาหารลำบากและส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมโน้มนำให้เป็นโรคในระบบอื่นๆตามมาได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการรักษาที่นานกว่า หรือบางตัวอาจถึงขั้นต้องถอนฟันในรายที่เหงือกและช่องปากอักเสบมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาแล้ว
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมติดต่อได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขาหรือโทร 02-196-8244-46