iTaam.co

โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายถึงตายทั้งคนและสัตว์

โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ สาขาใหญ่ ราชพฤกษ์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีรายงานข่าวว่ามีคนถูกสุนัขจรจัดกัดแล้วเสียชีวิตจากการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยยังมีรายงานพบการติดเชื้อได้ทุกปี ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคพิษสุนัขบ้ากันเถอะ

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชื่อ Rabies virus ทำให้เกิดโรคได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมถึงในคนด้วย ติดต่อได้จากการถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

"โดยเฉพาะสุนัขและแมวกัด ข่วน หรือเลียบริเวณเยื่อเมือกต่างๆ หรือบริเวณบาดแผล"

ไวรัสชนิดนี้จะส่งผลให้มีอาการทางระบบประสาทและทำให้เสียชีวิตในที่สุด

อาการในคน

ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการ อาจมีระยะตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงเป็นปี ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 1-3 เดือน

โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
• จำนวนเชื้อที่ได้รับเข้าไป
• ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป "หากอยู่ใกล้สมองหรือบริเวณที่มีการติดเชื้อมีปลายประสาทมาก จะทำให้เชื้อเข้าสู้ระบบประสาทได้เร็วขึ้น"

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนจะเริ่มจาก

• มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
• คันบริเวณแผลที่ถูกกัด อ่อนเพลีย
• คนที่ติดเชื้อจะไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติ
• กลืนลำบาก น้ำลายไหล หายใจไม่ออก
• ชักเกร็ง อัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด

เมื่อเริ่มแสดงอาการออกมาแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก และมักเสียชีวิตภายใน 10 วัน

อาการในสัตว์

ระยะฟักตัวในสัตว์จะมีระยะตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์จนถึงไม่เกิน 6 เดือน และหลังจากแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตภายใน 10 วัน อาการจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

• ระยะเริ่มแรก อาการจะยังไม่จำเพาะ ลักษณะอารมณ์และนิสัยจะเริ่มเปลี่ยนไป

• ระยะตื่นเต้น จะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท กระวนกระวาย หงุดหงิด กัดแทะทุกสิ่งไม่เลือก เสียงเห่าหอนเปลี่ยนไป

• ระยะอัมพาต สัตว์จะมีอาการปากห้อย ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ น้ำลายไหล ทรงตัวไม่ได้ อัมพาตทั่วตัวและเสียชีวิตในที่สุด

หากถูกสัตว์กัด ข่วนหรือเลีย ให้ปฏิบัติดังนี้


• ล้างแผลโดยเร็วที่สุดและล้างให้สะอาด
• ตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของสัตว์ที่มากัด และจดจำลักษณะอาการต่างๆของสัตว์ สัตว์ที่มากัดควรกักขังดูอาการอย่างน้อย 10 วัน หากมีอาการผิดปกติหรือเสียชีวิตให้ส่งซากสัตว์เพื่อตรวจหาเชื้อต่อไป
• รีบพบแพทย์เพื่อดำเนินการรักษาต่อไป

การรักษาและการป้องกัน

"ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า"

ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ทำได้โดย
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติที่แน่นอนหรือสัตว์จรจัด
• พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสม่ำเสมอ


ในประเทศไทยยังพบการติดเชื้อของโรคพิษสุนัขบ้าได้เรื่อยๆ ดังนั้น อย่าลืมพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสม่ำเสมอกันด้วยนะคะ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขานะคะ
ผู้เรียบเรียง สพ.ญ. สสิตา สุวันฑารัตน์

ที่มา

http://r36.ddc.moph.go.th/r36/content/index/1
http://www.merckvetmanual.com/mvm/nervous_system/rabies/overview_of_rabies.html
http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs099/en/
http://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/th/rabies.pdf

บทความที่น่าสนใจ