iTaam.co

โรคเบาหวานในสุนัขและแมว

MSD Animal health

โรคเบาหวานในสุนัขและแมว

โรคเบาหวาน เกิดจากภาวะการขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากการผลิตฮอร์โมนอินซุูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการที่ Insulin Receptor สูญเสียหน้าที่ในการจับกับอินซูลินเพื่อดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์

หน้าที่หลักของฮอร์โมนอินซูลิน คือ การนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน หากกลูโคสไม่สามาถเข้าสู่เซลล์ได้ตามปกติ เซลล์ก็จะขาดแคลนพลังงาน ทำให้มีปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดสูง ทำให้ต้องไปใช้พลังงานอื่นโดยการสลายไขมันและโปรตีน ซึ่งจะได้ของเสียกลุ่ม Ketone Bodies ซึ่งหากมีปริมาณมาก ๆ ในร่างกายก็จะส่งผลให้สัตว์มีภาวะเลือดเป็นกรด ( Diabetic Ketoacidosis)

อาการสัตว์ป่วยโรคเบาหวาน
1. กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก
2. กินอาหารเยอะ แต่น้ำหนักตัวลดลง
3. อาจพบ "ต้อกระจก" เลนส์ตาขาวขุ่นอย่างรวดเร็วในสุนัข
หรือ อาการ Diabetic Neuropathy ในแมวป่วยโรคเบาหวานได้

การรักษาสัตว์ป่วยโรคเบาหวาน
รักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งนี้ขึ้นกับผลของการทำ Blood glucose curve ว่าควรจะฉีดปริมาณเท่าใด และควรฉีดวันละ 1 หรือ 2 คร้ง ทั้งนี้ต้องร่วมถึงการดูแลควบคุมอาหาร
อาจจะเลือกให้อาการรักษาโรคเบาหวาน หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไฟเบอร์สูง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง
1. อายุ
พบว่า 93% ของสุนัขที่เป็นเบาหวานมีอายุ 5 ปีขึ้นไป
94% ของแมวที่เป็นเบาหวานมีอายุ 4 ปีขึ้นไป
2. สายพันธุ์
ในแมวสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ Burmeses หรือ แมวศุภลักษณ์ ส่วนสุนัขมีหลายสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน คือ กลุ่ม Australian Terrier, Standard Schnauzer, Samoyed, Miniature Schnauzer, Fox terrier, Keeshond และ Poodle
3. เพศ
ในแมวเพศผู้จะมีแนวโน้มเป็นเบาหวานมากกว่าเพศเมีย ซึ่งตรงข้ามกับในสุนัขเพศเมียมีแนวโน้มเป็นเบาหวานมากกว่าเพศผู้
4. ฮอร์โมน
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีผลต่อโน้มนำให้เกิดโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขเพศเมียที่มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูง เช่น ในภาวะ Di-estrus ภาวะตั้งท้อง เนื่องจากโครงสร้างโมเลกุล
ของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีหน้าตาใกล้เคียงกับโครงสร้างของฮอร์โมนอินซูลิน จึงแย่งฮอร์โมนอินซูลินจับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ ทำให้ฮอร์โมนอินซิลินไม่สามารถจับกับตัวรับแล้วดึงน้ำตาลเข้าเซลล์ได้ จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และโน้มนำให้เป็นเบาหวานได้ในที่สุด
5. ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
มีผลโน้มนำโรคเบาหวานได้ หากมีการใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ รวมทั้งการให้ยาคุมกำเนิด
6. ความอ้วน
เป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยมีการศึกษาในคนหลายฉบับซึ่งมีสมมติฐานที่ว่า คนอ้วน ในเซลล์มีการสะสมไขมันมากกว่าปกติ ทำให้ความไวตัวรับอินซูลินที่เซลล์จะลดลง และโน้มนำให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดไม่พึ่งพาอินซูลิน (Non-Insulin Dependent Mellitus) ดังนั้นในสัตว์อ้วนก็มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้เช่นกัน

**การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

**จะช่วยให้ตรวจพบโรคเบาหวานได้ตั้งแต่ระยะแรก

คุณสามารถช่วยสัตว์เลี้ยงของคุณได้อย่างง่ายๆ

โดยนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับการ ”ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด”

ที่คลินิกรักษาสัตว์และโรงพยาบาลสัตว์ได้แล้ววันนี้

ด้วยความปรารถนาดี จาก บริษัท อินเตอร์เว็ท (ประเทศไทย) จำกัด

บทความที่น่าสนใจ