กระต่ายคอเอียง
อาการหัวเอียง คอเอียง หรือหัวบิด ในกระต่าย มักจะเกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ทันทีทันใด ไม่ให้เจ้าของได้เตรียมตัวเตรียมใจกันเลยทีเดียวค่ะ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาการนั้นจะคงอยู่ค่อนข้างนาน หรือเป็นมากขึ้นภายในเวลาไม่กี่ ชม. ทำให้น้องกระต่ายของเราดูแย่และไม่มีความสุขเอาซะเลยค่ะ
สาเหตุ
การติดเชื้อในช่องหูชั้นกลางหรือชั้นใน
การกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุ
การติดเชื้อ โปรโตซัว Encephalitozoon Cuniculi
มีปรสิตในช่องหู, ตัวไรในหู
เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิไชขึ้นสมอง
การมีเนื้องอกหรือมะเร็ง
Heat stroke
ในกระต่ายพันธุ์เล็ก สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ 4 สาเหตุแรกค่ะ
1.เกิดจากการติดเชื้อในช่องหู มักจะพบว่ามีกลิ่น หรือมีหนองเปียกเยิ้มอยู่ในรูหู กระต่ายจะสะบัดหูบ่อยๆ อาจพบว่ามีหนองหรือของเหลวกระเด็นออกมาด้วย หรือใช้ก้านสำลีแคะเข้าไปในหูจะมีหนองติดออกมาค่ะ วิธีการรักษาคือ ล้างทำความสะอาดช่องหู หยอดหู และกินยาปฎิชีวนะ อาการจะค่อยๆดีขึ้นค่ะ เมื่อการติดเชื้อหมดไป อาการก็มักจะหมดไปด้วยจนกลับเป็นปกติได้ค่ะ
2.อุบัติเหตุ หรือการกระทบกระแทก มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และมักจะพบในกระต่ายที่มีความปราดเปรียว อยู่ในที่แคบไม่คุ้นเคย หรือตกใจเสียงดัง หรือขาติดที่ซี่กรง ในเคสนี้ อาจจะต้องใช้การเอ็กซเรย์ร่วมด้วยค่ะ เพื่อดูการหักของกระดูกสันหลัง หรือบางทีอาจจะคลำพบว่ามีเสียงกรอบแกรบอยู่ที่บริเวณส่วนหัวและลำคอ คือมีการแตกหักของกระดูกค่ะ ในกรณีนี้ควรรีบ พาไปพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ และระมัดระวังให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุดระหว่างเดินทาง
3.ปรสิตในช่องหู หรือไรในหู สามารถรักษาได้ง่ายด้วยการหยด revolution ที่หลังคอค่ะ และเมื่อกำจัดสาเหตุออก อาการก็มักจะดีขึ้นจนเป็นปกติได้ค่ะ
4. **** ในวันนี้ หมอจะเน้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่อง การติดเชื้อ โปรโตซัว E.Cuniculiค่ะ เพราะมักจะพบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วจะเรื้อรัง ที่สำคัญตัวเจ้าของเองจะมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้น้องกระต่ายดีขึ้นได้ เพราะต้องใช้เวลานาน และความอดทนค่ะ
Encephalitozoon cuniculi เป็นโปรโตซัว ซึ่งสามารถติดได้ในสัตว์หลายๆ ชนิด รวมทั้งในมนุษย์ด้วย มักพบกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรค AIDS ในสัตว์บางชนิดเช่น สุนัขและแมวพบว่าสามารถเสียชีวิตได้จากการติดเชื้อหรือสามารถรอดและขจัดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ก็ได้
*** แต่ในกระต่ายและหนูนั้นพบว่าการติดเชื้อจะอยู่ตลอดชีวิตโดยที่อาจมีหรือไม่มีการแสดงออกของโรคก็ได้ และพบว่าพันธุกรรมของสัตว์ในกลุ่มนี้จะมีผลต่อความทนทานต่อเชื้อด้วย ****
การติดต่อ
สัตว์ป่วยจะแพร่เชื้อทางปัสสาวะ และติดต่อไปยังตัวอื่นโดยการกินหรือสูดหายใจเข้าไป เมื่อสปอร์ของเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้ง ไต, ตับ, ปอด, ไขสันหลัง และสมอง ส่วนที่เข้าไปอยู่ในส่วนของไตจะสร้างสปอร์ และส่วนของสปอร์เหล่านั้นจะออกมากับปัสสาวะในปริมาณที่ค่อนข้างมากภายในระยะเวลา 30 วัน และสปอร์ดังกล่าวยังคงสร้างอยู่จน 90 วัน
อาการ
ส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางอาการขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของกระต่ายด้วย และกระต่ายที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง การแสดงออกของกระต่ายมักมีความเกี่ยวข้องกับ ไต สมอง และไขสันหลัง หัวบิด คอบิด เดินวน ตากลอกไปมา มีการอักเสบติดเชื้อในตา ถ้ามีปัญหาทางโรคไตอย่างรุนแรง มักจะพบอาการอ่อนแรงซึ่งอาจสับสนกับปัญหาทางระบบประสาทได้ นอกจากอาการซึมและหมดแรงแล้ว กระต่ายอาจมีอาการของความอยากอาหารลดลง กินน้ำเป็นปริมาณมาก พบปัสสาวะบ่อย และมีกลิ่นของแอมโมเนียออกมากับลมหายใจ และกระต่ายอาจเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
การรักษา
ต้องทำการฆ่าเชื้อควบคู่ไปกับการประคองอาการค่ะ หมอจะให้กินฆ่าปรสิตนาน 28 วัน, ยาปฎิชีวนะ , ยาลดอักเสบ และวิตามินบำรุงประสาทค่ะ ซึ่งในระหว่างที่น้องกระต่ายป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น เจ้าของมีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะช่วยเหลือเค้า ด้วยการป้อนน้ำ ป้อนอาหาร ป้อนยา คอยดูแลระหว่างที่ทรงตัวไม่ได้ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มเติม ในกระต่ายบางตัวก็สามารถกลับมาหัวตรงได้ หรือบางตัว อาการนั้นอาจจะมีอยู่ตลอดไปก็ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อและระยะเวลาที่พามาพบหมอ ถ้าพามาเร็วโอกาสหายก็จะสูงขึ้นค่ะ